ภาคีเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมเมืองขอนแก่น สานพลังภาครัฐ-เอกชน ประกาศปฏิญญา ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาขยะเมืองขอนแก่นอย่างเป็นรูปธรรม

ภาคีเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมเมืองขอนแก่น จับมือกันจัดงาน “ประชาสังคมสานพลังเปลี่ยนเมือง” วางเป้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะเมืองขอนแก่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมประกาศปฏิญญาประชาชน 3 ข้อ และลงนามความร่วมมือทั้งภาครัฐเอกชน ประชาชนและเยาวชน หวังเป็นต้นแบบการทำงานแบบบูรณาการในการพัฒนาเมือง

วันที่ 4 ธันวาคม 2563 ที่อาคารแสดงสินค้าแฟชั่น ตลาดต้นตาล เทศบาลนครขอนแก่น นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน สานพลังแก้ปัญหาขยะเพื่อเปลี่ยนเมือง ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งความสุข ซึ่งโครงการ Spark U ปลุกเปลี่ยนเมือง และคณะทำงานวิชาการโครงการพัฒนากลไกสนับสนุนการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ร่วมกันจัดงาน ประชาสังคมสานพลังเปลี่ยนเมือง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะโดยภาคประชาชน


โดยมี อาจารย์มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ,อ.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และภาคีเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมเมืองขอนแก่น ประกอบด้วย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น สมาคมไทสิกขา ตลาดเขียว ตลาดต้นตาล ตลาดศรีเมืองทอง ถนนคนเดินขอนแก่น ตลาดเปิดท้ายหอกาญจนาภิเษก ชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ชมรมกรีนบ๊อคขอนแก่น ชมรมหอพัก

และอพาร์ทเมนท์ขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขอนแก่น หรือ ซีอีเอ กลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งโรงเรียนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น 15 โรงเรียน ร่วมกันจัด
นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้ผมดีใจที่เห็นพลังจากทุกภาคส่วนในการมาร่วมแก้ปัญหาขยะร่วมกัน เพราะปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ของทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ขยะเกิดจากเรามันต้องแก้ที่ตัวเรา หากเราสามารถจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางได้จะทำให้ขยะไม่มาลงถังซึ่ง เป็นปลายทาง


กิจกรรมของโครงการ สปาร์คยูปลุกเปลี่ยนเมืองและภาคีเครือข่าย ถือเป็นโครงการที่ดี ที่สานพลังทุกภาคส่วนทั้งประชาสังคม รัฐ เอกชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา มาร่วมกันได้ เพราะนี่คือพลังที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะร่วมแก้ทุกปัญหาไปด้วยกัน หากทุกปัญหา ทุกเรื่อง เราจับมือไปด้วยกันได้มักจะสำเร็จ วันนี้ต้องขอบใจทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะหากเรามองเห็นปัญหาร่วมกันแล้ว เราก็จะสามารถแก้ได้เช่นกัน
ปฏิญญาของชาวขอนแก่นที่ได้ข้อสรุปร่วมกันในการทำกิจกรรมที่ผ่านมาที่บอกว่า“ประชาชนคนขอนแก่นจะคัดแยกขยะที่ต้นทาง สนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมวัฒนธรรม “หยุดกินเหลือเพื่อชาติ” หอพัก อพาร์ตเม้นท์จะรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้เกิดการลดขยะ จะร่วมกันเปลี่ยนขยะเป็นบุญเพื่อช่วยเกื้อกูลผู้ยากไร้ ลดความเหลื่อมล้ำ และตลาดจะสร้างเครือข่ายคัดแยกขยะจากผู้ให้ถึงผู้รับ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติก” นี่คือการประกาศความร่วมมือร่วมใจที่น่าชื่นชม ผมในฐานะหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ยินดีและขอร่วมมือในการทำกิจกรรมครั้งนี้เพื่อให้ภารกิจของเราทุกคนสำเร็จลุล่วง


อ.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการปฏิบัติสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ “ปลุก-ใจ-เมือง (Spark-U)” เกิดขึ้นโดยมีจุดเริ่มต้นจากการการจัดงานมหกรรมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ “เด็กบันดาลใจ” เป็นรูปแบบหนึ่งของการขับเคลื่อนงาน ได้ดำเนินการในปีแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับตอบรับจากสาธารณะ และมีข้อเสนอแนะให้มีการดำเนินการต่อเนื่องโดยให้ประชาชนรับรู้และสามารถเข้าถึงได้กว้างขวางมากขึ้น ภายใต้แนวความคิด เรื่องของยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) การสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้และมีส่วนร่วม เป็นทิศทางเชิงรุก การดึงพลังเชิงบวกของเด็กเยาวชน ครอบครัว และทุกฝ่ายในชุมชนมาร่วมขับเคลื่อนงานในมิติและประเด็นต่าง ๆ อย่างได้ผล ด้วยหนังสือ สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ การสร้างนักสื่อสารสุขภาวะ ที่เป็นแกนนำครอบครัว แกนนำโรงเรียน และแกนนำชุมชน เกิดการเรียนรู้ที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมทางสังคมของชุมชน เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่เยาวชนมีส่วนร่วมในการผลิตและส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เกิดพื้นที่ดีส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนได้อย่างหลากหลายรอบด้าน เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม การสื่อสารเพื่อสุขภาวะที่มีความเป็นเอกลักษณ์เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่


ตลอดระยะเวลา 2 ปี โครงการปฏิบัติสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ “ปลุก-ใจ-เมือง (Sprak-U)” เป็นรูปแบบหนึ่งของการขับเคลื่อนงาน ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยภาคีหลัก 3 แผนงานหลัก คือ 1) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ 2) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน 3) แผนงานการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ใน 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ทั้งนี้แผนงานสื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ เป็น 1 ในองค์กรร่วมจัด จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้เลือกจังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางพื้นที่ปฏิบัติการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีภาคีเครือข่ายของ 3 แผนงานในการทำงานอยู่ และมีภาคีเครือข่ายใหม่ๆที่มีความสนใจในเรื่องนี้มาร่วมคิดร่วมออกแบบ และสร้างการเปลี่ยนพื้นที่หรือเมือง ตั้งแต่พื้นที่เล็ก ๆ ในชุมชนเพื่อสุขภาวะ การหาคุณค่าความหมาย


นางสุมาลี สุวรรณกร ผู้ประสานงานโครงการสปาร์คยู ปลุก เปลี่ยนเมือง ซึ่งได้รณรงค์เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะเมืองขอนแก่น หลังพบตัวเลขปริมาณขยะในเขตเทศบาลนครขอนแก่นมีมากถึงวันละ 162 ตัน และแต่ละปีต้องจ่ายเงินค่ากำจัดขยะเป็นปริมาณมาก เมื่อหันกลับมาดูพบว่าปัญหาขยะมาจากทุกคนที่ยังทิ้งขยะโดยที่ไม่รู้วิธีการคัดแยกและกำจัดออก โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของขยะทั้งหมดเพราะจัดการยากและมีปริมาณมากถึงครึ่งหนึ่งของขยะทั้งหมด โครงการสปาร์คยู ปลุกเปลี่ยนเมืองจึงได้จับมือและเชิญชวนภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านขยะมาร่วมกันขับเคลื่อนเมืองเพื่อปลุกพลังประชาชน เยาวชน ให้หันมาแก้ปัญหาขยะโดยเริ่มต้นจากตัวเองก่อนเพื่อหวังลดขยะตั้งแต่ต้นทาง


“ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือและร่วมกันระดมสมองเพื่อให้ได้แนวทางการจัดการขยะร่วมกันของทุกภาคส่วน จนได้ปฏิญญาประชาชนคนขอนแก่นขึ้นมา 3 ข้อประกอบด้วยประชาชนคนขอนแก่นจะคัดแยกขยะที่ต้นทางเพื่อสร้างสุข สนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมวัฒนธรรม “หยุดกินเหลือเพื่อชาติ” รวมถึงหอพัก อพาร์ตเม้นท์จะรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้เกิดการลดขยะเพื่อรักษ์โลก และแยกขยะเปลี่ยนขยะเป็นบุญเพื่อช่วยเกื้อกูลผู้ยากไร้ ลดความเหลื่อมล้ำ และ ตลาดจะสร้างเครือข่ายคัดแยกขยะจากผู้ให้ถึงผู้รับเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติก”นางสุมาลี กล่าว

Related posts