ม.สงขลานครินทร์ ร่วมกับ GISTDA ถ่ายทอดความรู้การทดสอบและสาธิตพาหนะเคลื่อนที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้า (EV Car)

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ. หรือ GISTDA (จิสด้า) เปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้การทดสอบและสาธิตพาหนะเคลื่อนที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV Car) ผ่านระบบ ZOOM และ เฟชบุคไลฟ์ ผ่านเพจสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เมื่อวันที่ 16  กรกฎาคม 2564  บริเวณอ่างเก็บน้ำ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี นิสิต นักศึกษา บุคลากร กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชน และสื่อมวลชน กว่า 200 คน ร่วมกิจกรรม

 

โดย ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ  รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดงาน โดยมี  ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (องค์การมหาชน) รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.  รศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ม.อ. ร่วมเป็นเกียรติ  โดยมีนายทศวรรษ ฟูเกียรติสุทธิ์ นักพัฒนานวัตกรรม จาก GISTDA และรศ.ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ หัวหน้าโครงการพื้นที่ต้นแบบการทดสอบนวัตกรรม 5G (Sandbox) เพื่อการพัฒนาพาหนะไร้คนขับนำทางด้วยเทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูง (GNSS อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นวิทยากร

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ  รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การถ่ายทอดองค์ความรู้การทดสอบและสาธิตพาหนะเคลื่อนที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV Car) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพื้นที่ต้นแบบการทดสอบนวัตกรรม 5G (Sandbox) เพื่อการพัฒนาพาหนะไร้คนขับนำทางด้วยเทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูง (GNSS) โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา จากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศษฐกิจและสังคม

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง และนำทางด้วยดาวเทียม ในชีวิตประจำวัน เราสัมผัสเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อย่าง โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ นาฬิกา ล้วนแล้วแต่พึ่งพาเทคโนโลยี GNSS แทบทั้งสิ้น การพัฒนาพาหนะไร้คนขับ มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต เนื่องจากสามารถช่วยลดอุบัติเหตุ เป็นตัวเลือกในการเดินทางสำหรับคนที่ไม่สามารถขับรถได้ การประยุกต์ใช้ในแปลงเกษตรกรรม การขนส่ง และอุตสาหกรรมต่างๆ

รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การเรียนรู้เทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถเชื่อมโยงการใช้งานจริงที่ยั่งยืน เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดการส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูงรองรับความร่วมมือการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการใช้ข้อมูลเชิงตำแหน่งรายละเอียดสูง (GNSS) และเทคโนโลยี 5G เพื่อให้เกิดการให้บริการข้อมูลและการใช้ข้อมูลจากผู้ประกอบการ เพื่อประยุกต์ใช้ในหลายภาคส่วน สามารถก่อให้เกิดการสร้างสรรค์มูลค่า ได้จริงอย่างยั่งยืน

 

Related posts