ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แนะนำการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อซีเมนต์กลม :

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แนะนำการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อซีเมนต์กลม :

งานศึกษาและพัฒนาประมง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แนะนำการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อซีเมนต์กลม โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อย และมีน้ำไว้ใช้ในการเลี้ยงปลาอย่างจำกัด

เริ่มต้นด้วยจัดหาบ่อซีเมนต์กลมมาติดตั้งระบบระบายน้ำ แล้วดำเนินการปรับสภาพบ่อ โดยบ่อซีเมนต์ใหม่ให้ใส่น้ำเต็มบ่อและใส่หยวกกล้วยสับลงไป แช่ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงล้างบ่อให้สะอาด แล้วตากบ่อให้แห้ง แต่ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์เก่า ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำด่างทับทิมสาดให้ทั่วบ่อ ตากบ่อให้แห้ง

จากนั้นเริ่มปล่อยลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร ในอัตรา 50-70 ตัวต่อตารางเมตร ให้น้ำมีระดับลึก 20 – 30 เซนติเมตร ลูกปลาโตขึ้นค่อยๆเพิ่มระดับน้ำ 5 เซนติเมตร/สัปดาห์

การให้อาหารเม็ดจะให้ 3- 7% ของน้ำหนักตัว ปล่อยปลาในอัตรา 50 – 70 ตัว/ตารางเมตร ปลาจะเติบโตได้ขนาด 100 – 200 กรัม/ตัว ใช้ระยะเวลาเลี้ยงอย่างน้อย 3 เดือน หรือ 90 วัน มีอัตรารอด 80 %

สำหรับต้นทุนการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบอซีเมนต์กลมนั้น ปลาดุกขนาด 2-3 นิ้ว ราคาตัวละ 1 บาท จำนวน 50 ตัว เป็นเงิน 50 บาท ใช้เวลาเลี้ยง 3เดือน ได้น้ำหนัก 3 ตัวต่อกิโลกรัม อัตรารอดตาย 95% ได้ปลาจำนวน 47 ตัว ได้ผลผลิตปลาประมาณ 15.6 กิโลกรัมต่อบ่อ รวมต้นทุนต่อ1รอบการเลี้ยง 530 บาท ราคาขายกิโลกรัมละ 70 บาท ขายได้ 1,092 บาท ทำให้มีกำไรสุทธิ 562 บาท

ส่วนเคล็ดลับในการเลี้ยง ทั้งการให้อาหารปลาควรให้อย่างสม่ำเสมอและพอเพียงกับการกินอาหารของปลา โดยสามารถใช้แมลง ไส้เดือน ผักบุ้งหรือเศษอาหารเพื่อทดแทนอาหารสำเร็จรูปได้แต่ควรให้ในปริมาณทีเหมาะสมเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย อีกทั้งควรทำฝาตาข่ายปิดบ่อปลาเพื่อป้องกันการหนีของปลา ศัตรูปลา และเศษใบไม้

ทั้งนี้ ปลาดุกบิ๊กอุยเป็นปลาที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุย (Clrias marocephalun) เพศเมีย ซึ่งเป็นปลาพื้นเมืองของไทย เนื้อมีสีเหลืองรสชาติอร่อย และปลาดุกเทศ (Clarias gariepinus)เพศผู้ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เจริญเติบโตเร็วมีภูมิต้านทานโรคสูง จึงเหมาะที่จะเลี้ยงเพื่อการบริโภคและจำหน่ายในพื้นที่

Related posts