ปล่อยกลไกตลาดทำงาน แนวทางแก้ปัญหาห่วงโซ่การผลิตอาหาร ช่วยเกษตรกรไทย :

ปล่อยกลไกตลาดทำงาน แนวทางแก้ปัญหาห่วงโซ่การผลิตอาหาร ช่วยเกษตรกรไทย :

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ การเจรจาข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ นอกจากปัญหาราคาน้ำมันจนอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเผชิญกับภาวะราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมาก ที่เรียกว่า “ออยล์ ช็อก” แล้ว ปัญหาสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบทั่วโลกไม่ต่างกันคือ “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ที่ราคาปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

สงครามยูเครนผลักดันให้วัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นทุกชนิด กลายเป็นความกังวลในกลุ่มผู้นำเข้าวัตถุดิบ ว่าธัญพืชอาหารสัตว์อาจจะเกิดภาวะชะงักงัน ทั้งข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะทั้งสองประเทศเป็นผู้เพาะปลูกและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก หากสงครามยืดเยื้อต่อไปราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะปรับสูงขึ้นอีกแน่นอน และอาจเกิดปัญหาขาดแคลนในที่สุด

ประเทศไทยก็โดนหางเลขเรื่องนี้ไม่น้อย ผลกระทบเกิดกับภาคผู้ผลิตทั้งส่วนของอาหารสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยง โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง เมื่อเทียบราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญในปัจจุบัน กับราคาเมื่อเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ขณะนี้กากถั่วเหลืองจากเมล็ดนำเข้าราคา 22.50 บาทต่อกิโลกรัม จากกิโลกรัมละ 19.50 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 15.38%) ส่วนข้าวสาลีนำเข้าราคา 13.25 บาทต่อกิโลกรัม จากกิโลกรัมละ 8.91 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 48.71%)

ขณะที่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยก็ปรับราคาสูงขึ้นมากกว่า 20% ล่าสุด บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ ได้ปรับราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำหรับข้าวโพดหลังนาต้นฤดูในราคาสูงสุดที่ 12.65 บาท/กก. เพื่อสร้างหลักประกันในการส่งมอบวัตถุดิบให้กับลูกค้า และลดความเสี่ยงด้านราคาที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีกหากสงครามยืดเยื้อ

โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมราคาขั้นต่ำ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นทาง ซึ่งกำหนดราคาประกันขั้นต่ำที่เมล็ดความชื้น 14.5% ไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรจำหน่ายได้นั้นสูงกว่าราคาประกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 แล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่ได้กำหนดเพดานราคา ทำให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตกลางน้ำ ต้องรับภาระวัตถุดิบสูงมาโดยตลอด

ทว่าอาหารสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ อาทิ ไก่เนื้อ และไข่ไก่ กลับเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคาตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือ ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น โดยที่ราคาขายถูกตรึงเอาไว้ได้

ปัญหานี้ทำให้โรงงานอาหารสัตว์อาจจำเป็นต้องหยุดการผลิต เท่ากับว่าอนาคตอันใกล้นี้ภาคผู้เลี้ยงสัตว์ อาจต้องประสบปัญหาอาหารสัตว์ขาดแคลนและกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์แน่นอน

ภาครัฐต้องเร่งจัดการกับเรื่องนี้ และควรมีมาตรการสนับสนุนภาคผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่ ไม่เฉพาะผู้เพาะปลูก แต่ผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็ต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมและเป็นรูปธรรม มาตรการไหนที่เป็นภาระและก่อปัญหาควรถูกปลดล็อกทันที เช่น การยกเลิกมาตรการ 3:1 การยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง การเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO และ AFTA ฯลฯ เพื่อไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดต้องหยุดชะงัก กระทั่งกระทบกับผู้บริโภคปลายทาง

ที่สำคัญการบริหารจัดการสินค้าเกษตรทั้งระบบ ด้วยการยกเลิกการควบคุมราคา เลิกตรึงราคาสินค้า ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร และเป็นการสนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพให้กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง./

โดย : บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการด้านปศุสัตว์

Related posts