คนเลี้ยงหมูใต้ โอดแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ อุปสรรคเข้าเลี้ยงรอบใหม่ ซ้ำมีขบวนการลักลอบนำเข้าหมู เสี่ยงโรค-สารเร่ง-ทุบอุตสาหกรรมหมู :
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในอาชีพ นับตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคในสุกรที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรต้องเลิกเลี้ยง หรือหยุดการเลี้ยงไว้ก่อน แต่กลับต้องมีต้นทุนการป้องกันโรคอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถกลับมาเข้าเลี้ยงสุกรรอบใหม่ได้ และปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ “เกษตรกรขาดเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ” จากภาระหนี้สินสะสมตลอดเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา และหนักที่สุดในช่วงปีนี้ที่ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ราคาน้ำมัน ค่าไฟ ค่าน้ำใช้ ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเลี้ยงยังประสบปัญหาอากาศแปรปรวนร้อนสลับฝน เมื่อสัตว์ปรับตัวไม่ได้จึงมีอัตราเสียหายมากขึ้น ผลผลิตที่ได้ลดลง โดยเกษตรกรขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 96 – 98 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงแล้ว ที่สำคัญทุกครั้งที่ราคาปรับตัวในระดับที่เกษตรกรผู้เลี้ยงพออยู่ได้ ภาครัฐจะเข้ามามีส่วนในการกำหนดราคา แทนที่จะปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของเกษตรกร
“ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู กำลังมีทุกข์หนักเนื่องจากการเลี้ยงหมูต้องหยุดชะงักลง เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะโรคระบาด เกษตรกรจึงไม่สามารถขอกู้เงินในระบบได้ เนื่องจากสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ เพราะคนเลี้ยงไม่มีรายได้และยังไม่มีหลักประกันในอาชีพ วันนี้เกษตรกรขาดที่พึ่ง แม้อยากทำอาชีพเลี้ยงหมูต่อก็ต้องมีอุปสรรคเพราะไม่มีต้นทุน การจะเริ่มการเลี้ยงหมูรอบใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากจากการต้องปรับปรุงระบบการเลี้ยงและการป้องกันโรคให้ได้มาตรฐาน จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย บางรายที่พอมีแรงไปต่อก็ต้องอาศัยต้นทุนนจำนวนมากเพื่อการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน หมูปลอดภัย ปลอดโรค ถ้ายังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ก็ยิ่งกระทบกับปริมาณหมูที่ลดลงมากยิ่งขึ้น เท่ากับความมั่นคงทางอาหารโปรตีนของประเทศก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยเช่นกัน เกษตรกรจึงขอความเห็นใจจากธนาคารและภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหานี้” นายปรีชา กล่าว
นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มี กลุ่มผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ เข้ามาสวมเป็นสุกรไทย จำหน่ายในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีอากร และความเสี่ยงของผู้บริโภคจากสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์สุกรต่างประเทศ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกว่า 2 แสนราย และเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ ก็มีความเสี่ยงในอาชีพจากกลไกสินค้าที่ถูกบิดเบือนจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างประเทศดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งกวาดล้างขบวนการนี้ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ยังทำหน้าที่ปกป้องพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปลายข้าว ร่วม 7 ล้านครัวเรือน รวมไปถึงเป็นห่วงโซ่สำคัญของภาคเวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง ระบบขนส่ง และภาคธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หากเกษตรกรเลี้ยงสุกรต้องล่มสลาย จากการไม่มีต้นทุนซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบอาชีพ และเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าที่เข้ามาตีตลาดสุกรไทย ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างแน่นอน./