กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ สสสส. รุ่น 12 สถาบันพระปกเกล้า ถอดบทเรียนเขาหัวโล้นจังหวัดน่าน – “สบขุ่นโมเดล” มุ่งสร้างสันติสุขสู่ความยั่งยืน :
วันที่ 26 มีนาคม ที่โรงเรียนบ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ ได้จัดเวทีสานเสวนาหาทางออกในการแก้ปัญหา “สบขุ่นโมเดล” เพื่อสันติสุขและยั่งยืน
โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆอาทิ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ นันทบุรี เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ สมาชิกอบต.ป่าคา ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางความคิด ครู ตัวแทนจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ NGO ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ และไม่เข้าร่วมโครงการ ร่วมสานเสวนา โดยกะเทาะปม จากจุดเริ่มต้นของปัญหา จนนำไปสู่ความขัดแย้ง จากนั้นหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง ได้นำเครื่องมืออะไรมาใช้ จนทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจ เข้ามามีส่วนร่วมในความร่วมมือ
“บ้านสบขุ่น” เป็นหมู่บ้านหนึ่ง ที่อยู่บนที่ราบสูง หรือบนภูเขามานาน อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองราว 80 กิโลเมตร มีการทำเกษตรกรรมแบบพออยู่พอกิน แต่หลังจากกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามา โลกเปลี่ยนไป 10 ปีให้หลัง จึงปรากฎภาพเป็นเขาหัวโล้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการทำพืชเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดบนดอย และยังมีความซับซ้อนเรื่องสิทธิที่ดินทำกินอีกด้วย
ต่อมาปี 2558 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เข้ามาเพื่อลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ โดยหาพืชตัวอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า ให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องขยายพื้นที่เพิ่ม จึงเป็นจุดเริ่มต้น “สบขุ่นโมเดล”
เป็นการศึกษาร่วมมือ กับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ที่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ป่าไม่ถูกบุกรุกเพิ่ม และฟื้นฟูพื้นที่ป่ากลับมา โดยนำแนวคิดโมเดล “สร้างป่า สร้างรายได้” ตามแนวทางพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพให้ปลูกไม้ป่าควบคู่ไม้เศรษฐกิจ เพื่อรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ถูกทำลาย พร้อมสร้างจิตสำนึกในการฟื้นฟูป่าในที่ทำกิน โดยส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก คือ กาแฟ พันธุ์อราบิก้าเชียงใหม่ 80
รายงานข่าวแจ้งว่า การสานเสวนาครั้งนี้ เพื่อถอดบทเรียนสบขุ่นโมเดล โดยการศึกษาวิเคราะห์บริบท ปัจจัยของความสำเร็จสบขุ่นโมเดล มีความสำเร็จคืบหน้าในระดับใด รวมถึงการจัดการความขัดแย้งในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต คณุภาพด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ รวมทั้งยังแสวงหาข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ กับโมเดลในพื้นที่ อาทิ น้ำพางโมเดล และNan Sandbox และยังศึกษาข้อมูลจากเครือข่าย มูลนิธิฮักเมืองน่าน-รักษ์ป่าน่าน อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่จ.น่าน ของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากจัดการสานเสนาแล้ว ยังจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม มอบทุนการศึกษา อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การเรียน ขนมขบเคี้ยว หน้ากากอนามัย ให้แก่เด็กนักเรียนบ้านสบขุ่นด้วย