รมว.พม. เตรียมลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เร่งสรุปผลสอบข้อเท็จจริงปรากฎโดยเร็วที่สุด กรณี จนท.พม. ถูกกล่าวหาแทรกแซงคดีค้ามนุษย์ :
วันนี้ (9 พ.ค. 65) เวลา 13.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กทม. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าของกระทรวง พม. กรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจขยายผลการจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์ที่มีการขายบริการทางเพศของเยาวชนหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีการแจ้งความให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และรองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ
นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ ได้มีการรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นที่สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในรายงานนั้นยังขาดรายละเอียดบ้าง ดังนั้น ตนจึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวง พม. เข้าไปเป็นคณะทำงานสอบสวนเรื่องนี้โดยเฉพาะ และรีบรายงานให้ทราบโดยด่วนที่สุด อีกทั้งตนตัดสินใจจะเดินทางไปจังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชน NGOs ที่ร่วมทำงานด้วย รวมถึงไปรับฟังผู้ปฏิบัติงานด้วยตนเองในวันพุธนี้ (11 พ.ค. 65) นอกจากนั้นแล้ว คณะทำงานช่วยเหลือและแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่ปลัดกระทรวง พม. เป็นประธานจะต้องติดตามและรายงานความคืบหน้าให้ตนทราบทุกวัน โดยทราบว่าจะมีการรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดคือวันนี้ ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามารายงานตัวแล้ว ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนมั่นใจว่าจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ความคุ้มครองเด็ก สตรี ไม่ใช่เฉพาะแค่เคสนี้ แต่รวมถึงเคสอื่นทั่วไป ไม่ให้มีการล่วงละเมิด และต้องปรับการทำงานบูรณาการให้กระชับมากขึ้น โดยขอยืนยันว่าเราจะร่วมทำงานกับตำรวจ เพื่อให้ได้ข้อมูลและการแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างถอนรากถอนโคน
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ทราบว่าผู้ที่อยู่ในโครงการคุ้มครองพยานอยู่ในความดูแลของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ส่วนผู้ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เข้าไปดูแล เราจะนำออกจากพื้นที่ไปอยู่ในที่ปลอดภัยเพื่อไม่ให้ถูกกดดันจากฝ่ายใดทั้งสิ้น ด้านปลัดกระทรวง พม. ได้ไปสืบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัยถ้ามีมูล สำหรับการปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นภารกิจที่เราต้องร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น กระทรวง พม. เป็นผู้ที่เริ่มต้น โดยไปแจ้งตำรวจ และได้เชิญสหวิชาชีพมาร่วมประเมินกรณีที่เกิดขึ้น เมื่อประเมินแล้วเห็นว่าเป็นความเสี่ยง ความเป็นไปได้ที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์จึงไปแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี ซึ่งจะเห็นได้ว่า กระทรวง พม. เป็นผู้เริ่มเรื่องนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษศจิกายน 2564 และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการสอบสวนผู้เสียหายเรื่อยมา ภายหลังจากสอบสวนแล้วนั้น ผู้เสียหายมีจำนวนเพิ่มขึ้นและอยู่ในความคุ้มครองของบ้านพักและครอบครัวในพื้นที่
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับประเด็นที่อยากให้ประชาชนเข้าใจคือ ขณะนี้ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเด็กที่อยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. ถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นไม่ใช่ แต่เป็นคดีที่เริ่มจากการล่วงละเมิดทางเพศและค่อยกลายเป็นเรื่องค้ามนุษย์ และประการต่อมา มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่ดูแลนั้นไปกดดันหรือทำร้ายเด็กที่เป็นพยาน ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและจะพิจารณาลงโทษทางวินัยต่อไป ส่วนข้อเท็จจริงนั้น คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจะเข้าไปดูแล โดยในที่ประชุม ตนได้สอบถามไปแล้วว่า มีการตีเด็กจริงหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงที่ได้รับรายงานคือมีการตีเด็กจริง แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของคดี แต่เป็นเรื่องวินัยของบ้านพักเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กมีทั้งหมด 11 คนที่ถูกตี และหนึ่งในนั้นเป็นพยาน แต่เราจะไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่า ผู้ดำเนินคดีนั้นถูกกดดันหรือถูกบีบบังคับอย่างไรบ้างกับผู้เสียหาย ตนจึงจะเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วยตนเอง แต่อำนาจการสอบสวนเป็นเรื่องของระบบราชการที่กระทรวง พม. ต้องไปดำเนินการ ทั้งนี้ กระทรวง พม. พร้อมให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่างเต็มที่ และตนไม่กล้าถามใครเพราะกลัวว่าจะเป็นการเข้าไปแทรกแซงการทำงาน แต่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางตำรวจในการสืบสวนเรื่องการค้ามนุษย์ซึ่งจะขยายผลไปถึงใครนั้น จะไม่มีการละเว้น ในขณะเดียวกัน อยากจะขอว่า ถ้าไม่กระทบผลคดีและสามารถให้ข้อมูลในการสอบสวนเชิงลึกได้มากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนทางข้อเท็จจริงและวินัย อยากให้ตำรวจได้แนะนำผ่านระบบราชการ และต้องพูดแบบเปิดเผย จะไม่ทำจดหมายแบบลับๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจกับทางตำรวจ แต่เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ถ้าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีของเรา ซึ่งอยากได้เพื่อมาสอบข้อเท็จจริงในการยืนยันว่า สิ่งที่ตำรวจทราบกับสิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงไป มีข้อขัดแย้งหรือเหมือนกันอะไรบ้าง ทั้งนี้ ตนไม่กล้าประสานเพราะกลัวถูกกล่าวหาเรื่องการแทรกแซง จึงขอพูดผ่านทางสื่อในวันนี้
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ ได้มีคำสั่งกระทรวง พม. เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ค. 65 ให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คนที่เกี่ยวข้อง ย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานหรือกดดันใคร ตนอยากให้รอผลสอบข้อเท็จจริงที่เดียว ในส่วนของ “เอ็ม” เป็นพนักงานราชการ ซึ่ง 3 คนถูกย้ายออกนอกพื้นที่ เพื่อให้สอบข้อเท็จจริงให้จบและจะมีความคืบหน้ารายงานให้ทราบ ตนจะทำให้โปร่งใส ไม่มีการปิดบัง ไม่มีการล้มมวย ไม่ซูเอี๋ย
ด้านพลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 65 จากนั้นวันที่ 5 พ.ค. 65 ได้ตั้งคณะทำงานช่วยเหลือและแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ วันที่ 6 พ.ค. 65 ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเดินทางออกนอกพื้นที่ และวันจันทร์ที่ 9 พ.ค. 65 ให้เดินทางมาที่ กรุงเทพฯ
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า เรื่องนี้เริ่มต้นจากมีผู้ร้องเรียนกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนพฤษจิกายน 2564 ว่ามีเด็กถูกกักขังอยู่ในห้องหอพัก และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. จึงเข้าไปดูตามที่แจ้ง เราได้ไปสืบและคาดว่าน่าจะเข้าข่าย จึงได้นำเด็กมาคุ้มครองที่บ้านพักเด็กและครอบครัว และเชิญสหวิชาชีพทั้งอัยการ ตำรวจ จิตแพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ มาสอบถามเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี และตำรวจจึงเข้ามาสอบสวน แต่ยังไม่ได้แจ้งข้อหาใคร จากเดือน พ.ย. 64 จนถึงวันที่ 4 พ.ค. 65 ที่ทางพลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์จึงได้ทราบเรื่อง และตนได้สอบถามในที่ประชุมแล้วว่าหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฏร์ธานีได้มีการรายงานเรื่องนี้กับอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนหรือไม่ ซึ่งไม่มีรายงาน หลังจากนี้ ตนได้สั่งการไปแล้วว่าให้เชิญหัวหน้าบ้านทั้งเด็กและครอบครัว และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด มาถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะให้ทำครบทั้ง 4 ภาค โดยจะเริ่มที่ภาคใต้ก่อน เมื่อข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว จะมาทำเวิร์กชอปในทุกภาค จะได้ไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำซ้อน ด้านนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รู้สึกไม่สบายใจว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งเราได้เชิญมาร่วมเป็นสักขีพยานว่า เราทำงานอย่างโปร่งใส และสิ่งที่เราต้องการคือ เรากำลังเรียกร้องว่า การสอบสวนเด็กหรือสตรีที่อายุเกิน 18 ปี ควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิง เราจึงได้เชิญสมาคมฯ มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประสบภัยจากการค้ามนุษย์ ดังนั้น ควรจะเป็นมาตรฐานใหม่ที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนของสังคมไทยเช่นกัน
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอยืนยันว่า จะรอฟังผลสอบสวนข้อเท็จจริง เพราะมาตรฐานที่ดีของกระทรวง พม. และสามารถแยกแยะได้ว่า เรื่องส่วนตัวคือส่วนตัว หน้าที่คือหน้าที่ แต่ถ้าพบว่าใครละเมิดจะไม่มีการไว้หน้า ไม่มีการละเว้น และตนเคารพทุกความเห็นในสื่อโซเชียล แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยอยากให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสิ่งสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่จะต้องรายงานประชาชน ซึ่งตนติดตามอยู่โดยตลอดและให้มีการรายงานมาที่ตนทุกวัน เพราะต้องการให้ไม่มีการซูเอี๋ย ไม่มีการล้มมวย และระเบียบราชการมีข้อจำกัด แต่ตนสามารถแถลงให้ทราบและแจ้งให้ทราบได้