พก. จับมือ ธนาคาร CIMB พัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ธนาคาร อำนวยความสะดวก เข้าถึงบริการธุรกรรมทางการเงินสำหรับคนพิการทุกประเภท :
วันที่ 12 พ.ค. 65 เวลา 09.00 น. ที่ห้องออดิโธ่เรียม ชั้น 9 ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (สำนักงานใหญ่) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างความตระหนัก เรื่อง “สิทธิและความเสมอภาคของคนพิการกับการให้บริการทางธนาคาร” กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ในการให้บริการและอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในการเข้าถึงบริการและการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับคนพิการทุกประเภท อย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมดังกล่าวขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และปรับมุมมองในเชิงบวกของผู้เข้ารับการอบรมต่อคนพิการและความพิการ รวมทั้งการพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ธนาคารในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่มารับบริการกับทางธนาคาร โดยนำความรู้ที่ได้รับไปเพื่อขยายผลองค์ความรู้และทักษะการจัดบริการของทางธนาคารซีไอเอ็มบีไทย โดยมีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายเศรษฐจักร ลียากาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสูงสุด กำกับการปฏิบัติงาน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) คณะผู้บริหารธนาคาร ผู้แทนคนพิการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ พก. ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการอบรมฯ
ทั้งนี้ รูปแบบการฝึกอบรมประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลักคือ 1) ภาคทฤษฎี เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการ อาทิ กฎหมายด้านธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ และการบริการทางธนาคาร สถานการณ์คนพิการในปัจจุบัน และการปรับทัศนคติสำหรับคนพิการและแนวคิด สิทธิ และความเสมอภาคคนพิการ 2) ภาคปฏิบัติ เป็นการจำลองสถานการณ์จริงพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเน้นกระบวนการสร้างความเข้าใจ และการฝึกทักษะในการให้บริการเบื้องต้นเกี่ยวกับคนพิการทางการเห็น การให้บริการคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย การให้บริการคนพิการทางการเคลื่อนไหว และการให้บริการคนพิการและผู้ดูแลคนพิการทางออทิสติก/ทางสติปัญญาและการเรียนรู้ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะ นำไปสู่การปรับใช้แนวคิดเชิงสังคมของคนพิการ (Social Model of Disability) ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิและความเสมอภาคของคนพิการ การจัดสวัสดิการและสนับสนุนการดำเนินงานด้านคนพิการต่อไป