CPF ร่วมเวทีโลก “UNGC Leaders Summit 2022” โชว์วิสัยทัศน์สร้างสมดุลธุรกิจควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน :

CPF ร่วมเวทีโลก “UNGC Leaders Summit 2022” โชว์วิสัยทัศน์สร้างสมดุลธุรกิจควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน :

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) และ สหประชาชาติในประเทศไทย (UN in Thailand) ร่วมเป็นเจ้าภาพเวทีระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขับเคลื่อนความยั่งยืน ในเวทีโลก “UNGC Leaders Summit 2022” เป็นการประชุมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมกันทั่วโลก เมื่อ 1-2 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จากทั่วโลกกว่า 10,000 คนเข้าร่วมงาน และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ในงานนี้ นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผูู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้รับเชิญร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินธุุรกิจ ในประเด็น Climate & Biodiversity

นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ในฐานะประธานความมุ่งมั่นด้านการบริหารทรัพยากรที่เป็นเลิศ ของซีพีเอฟ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ ในหัวข้อ Climate & Biodiversity ว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจและดูแลสิ่งแวดล้อม ให้ไปด้วยกันได้อย่างสมดุลบนเป้าหมายความยั่งยืน มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า และมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับกระบวนการผลิต ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการมูลสัตว์และน้ำเสีย มีการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพในการบำบัดมูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่ และนำก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากระบบก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้าและนำกลับมาใช้ในฟาร์ม

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา บนพื้น และแบบลอยน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมแล้วสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่  27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด

ซีพีเอฟ ยังได้พัฒนามาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย ปี 2573 ในการจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรหลักที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และปลาป่น 100% จากการจัดหาทั่วโลกของซีพีเอฟจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และมาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าและไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ

บริษัท ฯ ได้พิจารณายกระดับการจัดการข้อมูลด้วยเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลแบบบล็อกเชน (Blockchain Technology) เพื่อทำให้การตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบมีความรวดเร็วและแม่นยำ

นายพีรพงศ์ ยังมีข้อเสนอแนะถึงประเด็นสำคัญที่จะต้องร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ให้คนรุ่นต่อๆไป (Next Generation) ร่วมกันสร้างโลกให้ดีขึ้นกว่านี้ และทุกคนต้องทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองของโลก ที่ต้องสร้างสิ่งที่ดีให้กับโลกใบนี้  โดยลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เหมือนว่าเป็นปี 2030

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ(Sustainble Development Goals : SDGs) ขับเคลื่อนความยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ประกอบด้วย 3 เสาหลัก  ได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและปรัชญา 3 ประโยชน์ คือประโยชน์ของประเทศ ประชาชน และบริษัท  บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีผู้นำของภาคเอกชนไทยที่เข้าร่วม อาทิ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต ผู้แทนจากบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)เป็นต้น โดยหัวข้อในการประชุม ติดตามความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อตกลงปารีสในภูมิภาคอาเซียน การร่วมสร้างเครือข่ายผู้นำที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนความยั่งยืนในโลกหลังโควิด-19 การบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะเป้าหมาย Net-Zero การจัดการกับช่องว่างด้านความรู้ ทรัพยากรและเงินทุน ./

Related posts