พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการคุ้มครองเด็กและครอบครัวอพยพโยกย้ายถิ่นฐานและการจัดการรายกรณี :

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการคุ้มครองเด็กและครอบครัวอพยพโยกย้ายถิ่นฐานและการจัดการรายกรณี ตามมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ :

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมพระประชาบดี ชั้น 19 โซน A อาคารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการคุ้มครองเด็กและครอบครัวอพยพโยกย้ายถิ่นฐานและการจัดการรายกรณี ตามมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ระหว่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน โดย  นางจตุพร  โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และ มูลนิธิโฮสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดย นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานกรรมการมูลนิธิโฮสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในสถานการณ์โยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทยให้เป็นไปตามหลักการสังคมสงเคราะห์และยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

 

างจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ประเทศไทย เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งเป็นตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 โดยได้มีการกำหนดมาตรการภายใต้อนุสัญญาฯ เกี่ยวกับการไม่กักเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

โดยรัฐบาลไทยได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ เรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถาน กักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 เพื่อกำหนดเป็นแนวปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยเมื่อ ปี 2563 กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้จัดทำคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็ก มีแนวปฏิบัติในการช่วยเหลือเด็กจากห้องกักให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐานสอดคล้องกับหลักสากล

ที่ผ่านมา กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้สร้างความร่วมมือกับมูลนิธิโฮสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขับเคลื่อนการดำเนินงานคุ้มครองเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานตามแผนการให้ความช่วยเหลือรายกรณีกับเด็กทุกคน ต่อเนื่องไปยังการดูแลครอบครัวของเด็กร่วมด้วย โดยยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และอัตลักษณ์ความแตกต่างของเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน โดยใช้กระบวนการจัดการรายกรณีในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพให้เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างมีคุณภาพ ประสานการเป็นผู้จัดการรายกรณีสำหรับเด็กและครอบครัวที่ได้รับการประกันตัวคืนสู่ชุมชนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นการชั่วคราว รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการอบรมให้ความรู้และทักษะ เกี่ยวกับการจัดการรายกรณีในการคุ้มครองเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน

นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานกรรมการมูลนิธิโฮสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิโฮสต์ฯ ทํางานร่วมกับเด็กและครอบครัวที่ได้รับการประกันตัวชั่วคราว จากสํานักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมไปถึงกลุ่มที่มีความเปราะบาง ประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นเด็กจํานวนกว่า 100 คน โดยมาตรการทางเลือกแทนการกักขังมีชุมชนเป็นฐาน ผ่านกระบวนการทํางานรูปแบบ Case Management ทําให้เด็กได้อยู่ร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองในรูปแบบครอบครัว เด็กสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาในโรงเรียน เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ เด็กและครอบครัวสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อชีวิต เช่น เวลาเจ็บป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาในสถานพยาบาลได้

การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จะเป็นแผนความร่วมมือร่วมกันในอนาคตระหว่าง 2 หน่วยงาน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในสถานการณ์โยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ให้เป็นไปตามหลักการสังคมสงเคราะห์และยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ให้เด็กได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามมาตรการทางเลือก แทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ และได้รับการดูแลในบรรยากาศของครอบครัวและชุมชนระหว่างรอกระบวนการแสวงหาทางออกที่ยั่งยืน

Related posts