“ม.ร.ว.จิราคม” ยื่นหนังสือถาม “ชวน หลีกภัย” แนะ “บิ๊กตู่” อนุมัติ พรบ.ธนาคารพุทธฯ เพื่อความเท่าเทียม :

“ม.ร.ว.จิราคม” ยื่นหนังสือถาม “ชวน หลีกภัย” แนะ “บิ๊กตู่” อนุมัติ พรบ.ธนาคารพุทธฯ เพื่อความเท่าเทียม :

15 มิ.ย. 2565 เวลา 11.30 น. ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย หม่อมราชวงศ์จิราคม กิติยากร ประธานเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ พร้อมด้วยหม่อมหลวงสัญชัย ทองแถม และหม่อมหลวงกานตพงศ์ วรวุฒิ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร

ในการนี้ หม่อมราชวงศ์จิราคม กล่าวว่า จากที่ตนได้เคยยื่นหนังสือเพื่อเสนอ พ.ร.บ. ต่อคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ เมื่อ 20 ก.พ. 2563 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.) ร่างพ.ร.บ.การบริหารองค์กรพุทธศาสนา 2.) ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย 3.) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการสังเวชนียสถาน ซึ่งทราบข้อมูลล่าสุดว่าได้พิจารณายกร่างเป็นที่สำเร็จ และมี ส.ส. ในรัฐสภาที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้เข้าชื่อจำนวน ส.ส. มากกว่า 20 คนต่อรัฐสภา ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการรับแสดงความคิดเห็นตาม ม.77 มาแล้ว และได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากรัฐสภาถึงสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ นายกรัฐมนตรีลงนาม ด้วยเป็น พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน แต่เป็นที่น่าตกใจว่า หนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0404/6950 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2565 เป็นหนังสือจากเลขานุการนายกรัฐมนตรี ถึง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

โดยมีสาระสำคัญในจดหมายระบุว่านายกรัฐมนตรี “มีบัญชาไม่รับรองพระราชบัญญัติ ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย” ตนจึงได้ทำหนังสือทักท้วงเพื่อขอให้นำไปพิจารณาอีกครั้ง ด้วยเป็นส่ิงที่สำคัญต่อประชาชนคนไทย ที่จะแสดงถึงความเสมอภาคตาม มาตรา 30 คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน อีกทั้งยังเป็นการให้เกียรติชาวไทยพุทธที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ทำให้ชาติไทยเป็นไทยจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักในนามประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ

ตนจึงขอให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ทบทวน พ.ร.บ.ธนาคารพุทธศาสนา อีกครั้งด้วยเพราะต่างศาสนาก็มี พ.ร.บ.ธนาคาร ศาสนาของเขาแล้ว ชาวไทยพุทธก็ควรมี พ.ร.บ.พุทธศาสนา อันเป็นความเสมอภาคตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยนายชวน หลีกภัย หลังจากรับหนังสือแล้ว ก็จะนำไปเสนอตามขั้นตอนและกล่าวทิ้งท้ายว่า “เราก็เด็กวัดเหมือนกัน”

Related posts