รมว.พม. เปิดอบรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชีวิตผู้สูงอายุ หนุนผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุ สร้างอาชีพที่ยั่งยืน :

รมว.พม. เปิดอบรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชีวิตผู้สูงอายุ หนุนผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุ สร้างอาชีพที่ยั่งยืน :

วันที่ (16 ธ.ค. 65) เวลา 09.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชีวิตผู้สูงอายุ สุขภาพดี ชีวีมีสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำหรับผู้สูงอายุจาก 10 หมู่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุตำบลอรัญญิก ผู้บริหารท้องถิ่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)  และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 300 คน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุมีร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่เข้มแข็ง สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข อีกทั้งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองอย่างเหมาะสม ถูกต้อง ถูกวิธี และส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก 11 อ. นอกจากนี้ ได้พบปะพูดคุยกับคณะทำงานด้านผู้สูงอายุในพื้นที่ และมอบถุงยังชีพแก่ครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 50 ครัวเรือน ณ บริเวณลานโดมเทศบาลเมืองอรัญญิก ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จากนั้นเดินทางไปยังห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อประชุมกับคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลวังพิกุล สำหรับการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของศูนย์ฯ เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนและกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมในพื้นที่

นายจุติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ และมากกว่าประชากรเด็ก ซึ่งพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข ทำให้คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้นเฉลี่ย 77 ปี  ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทยเป็นอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าในปี 2579 จะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้สูงอายุทุกคน ตลอดจนบุคคลในครอบครัวและชุมชน  สำหรับสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุนั้น ยังคงได้รับผลกระทบจากการเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทำให้ช่วยเหลือดูแลตัวเองได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย  จนกลายเป็นผู้สูงอายุที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งวันนี้ ตนได้มาศึกษาดูงานที่เทศบาลเมืองอรัญญิก ทำให้เห็นว่ามีความคิดที่ก้าวไกลและก้าวหน้ามาก ที่มีการจัดทำโมเดลการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตนมองว่าเคล็ดลับของความสำเร็จคือ ความเอาใจใส่ในคุณภาพชีวิตของทุกคน รู้จักประชาชนในพื้นที่เกือบทุกคนในทุกหมู่บ้าน ทั้งนี้ จึงอยากเชิญชวนให้มาทำเรื่องคนพิการติดเตียงจากผู้สูงอายุด้วย ซึ่งดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยร่วมกับโรงพยาบาลพระพุทธชินราช และสิ่งที่อยากสนับสนุนคือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอาชีพที่กระทรวง พม. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ทำให้คนมีอาชีพ นอกจากการดูแลพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย แล้ว ยังสามารถมีอาชีพที่ยั่งยืน และช่วยดูแลผู้ป่วยในสังคมได้อีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยมีฐานที่เข้มแข็งในด้านสุขภาพ ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกมีความพร้อมด้านบุคลากรที่จะสามารถช่วยสนับสนุนให้คนในจังหวัดพิษณุโลกมีความสุขและมีอาชีพที่ยั่งยืนได้

Related posts