ซีพีเอฟ ผลึกพลัง กรมป่าไม้ และเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมดูแลผืนป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ :
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม อนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ในโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จังหวัดลพบุรี ผนึกพลังกรมป่าไม้ เครือข่ายภาคประชาสังคม และพนักงาน มีส่วนร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ดูแลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร
พนักงานจิตอาสาซีพีเอฟ 250 คน จากสายธุรกิจต่างๆ ร่วมกิจกรรมซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เป็นความร่วมมือ 3 ประสาน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยวันนี้ (31 มีนาคม 2566) เป็นกิจกรรมครั้งแรกของปีนี้ เพื่อซ่อมแซมให้ฝายมีสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งานในการกักเก็บน้ำและชะลอการไหลของน้ำ เติมความชุ่มชื้นของดินและต้นไม้ โดยมี ดร.รัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอพัฒนานิคม เป็นประธานเปิดกิจกรรม
นายภาณุวัตร เนียมเปรม ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่เนื้อ – เป็ดเนื้อครบวงจร ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ฯ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ สร้างความตระหนักสู่พนักงานในองค์กร
โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ทำให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวไปแล้วรวม 7,000 ไร่ และในปี 2564-2568 (ระยะที่สองของโครงการฯ) มีเป้าหมายขยายพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่โครงการเขาพระยาเดินธงอีก 5,000 ไร่ เป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับทำการเกษตรและการอุปโภคของชุมชน
โดยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานชุมชนและกระจายรายได้ ด้านสังคม ช่วยยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของชุมชน สามารถใช้ประโยชน์จากป่าเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชน และด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าและความหลากหลายของพันธุ์พืช ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และอาหารของสัตว์และแมลงต่างๆ ช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ
“ซีพีเอฟ มุ่งมั่นมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ที่สำคัญ คือ เป็นการสร้างความตระหนักให้พนักงานเห็นความสำคัญของป่าที่มีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นต้นทางอาหารของมนุษย์และสัตว์” นายภาณุวัตร กล่าว
ด้าน นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) กรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า ความร่วมมือ 3 ประสาน ในการดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เกิดผลสัมฤทธิ์รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทำให้ช่วยกักเก็บน้ำไว้ในฤดูน้ำหลาก น้ำไหลสู่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ชาวบ้านได้ใช้น้ำทำการเกษตร รวมทั้งซีพีเอฟยังได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนรอบโครงการ เช่น การจ้างงานชุมชน การส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติ และ โครงการการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา ด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เห็นผลสำเร็จชัดเจนในการฟื้นคืนความสมบูรณ์กลับสู่ผืนป่าได้ในระยะเวลาอันสั้น และเป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS)ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์
หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธง กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากโครงการ ฯ จะเกิดประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่่แล้ว ซีพีเอฟและกรมป่าไม้ ยังได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ และเปิดโอกาสให้นักเรียนของสถานศึกษารอบโครงการ ฯ ได้มาเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง กระตุ้นให้เกิดความรักและหวงแหนพื้นที่ป่า ช่วยกันดูแลเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ต่อไป./