พม. มอบรางวัล Line Chatbot “เจอ แจ้ง แจ่ม แจ๋ว” เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย พร้อมต่อยอดให้คนพิการใช้ชีวิตอิสระใช้ประโยชน์ได้จริง :

พม. มอบรางวัล Line Chatbot “เจอ แจ้ง แจ่ม แจ๋ว” เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย พร้อมต่อยอดให้คนพิการใช้ชีวิตอิสระใช้ประโยชน์ได้จริง :

เมื่อวันที่ (18 เม.ย. 65) เวลา 14.00 น. นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบโล่รางวัลโครงการแพลตฟอร์มการขึ้นทะเบียนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ในรูปแบบแพลตฟอร์ม Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย ภายใต้แนวคิด “เจอ แจ้ง แจ่ม แจ๋ว” โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ผู้นำองค์กรคนพิการ คนพิการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพฯ

นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จัดทำฐานข้อมูลและภาพถ่ายสถานที่สาธารณะที่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในประเทศไทย เผยแพร่ในรูปแบบแพลตฟอร์ม Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย ภายใต้แนวคิด “เจอ แจ้ง แจ่ม แจ๋ว” พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้คนพิการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ (ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ป้ายและสัญลักษณ์ บริการข้อมูล อุปกรณ์ที่จำเป็น ผู้ให้บริการ) ได้อย่างเท่าเทียม โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา และได้จัดกิจกรรมจัดประกวดแข่งขันชิงเงินรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งได้สิ้นสุดกิจกรรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 4,932 รายการ จากเป้าหมาย 1,500 รายการ ทั้งนี้ มีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลในระดับชมเชย จำนวน 5 คน ดังนี้ 1) นางสาวรุจิรัตน์ ทัศนพูนชัย  จำนวน 267 รายการ 2) นางสาวกฤษฎี บุญสวยขวัญ จำนวน 177 รายการ 3) นางสาววริสรา บุญมา จำนวน 145 รายการ 4) นางสาวเกษริน มณีรัตน์ จำนวน 102 รายการ และ 5) นางสาวสุกัญญา จำนงค์บุญ จำนวน 100 รายการ

ทั้งนี้ จะมีการขยายผลและต่อยอดแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยจะนำข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการมาประเมินจัดระดับ (Ranking Disabilities Friendly) สถานที่ที่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ซึ่งแบ่งเป็น 7 ระดับ และกำหนดประเภทสถานที่ ที่จัดระดับการเข้าถึง อีก 11 ประเภท ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สถานที่ท่องเที่ยว/สวนสาธารณะ ขนส่งสาธารณะ ศาสนสถาน สถาบันการศึกษา (ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย) โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ร้านอาหาร นอกจากนี้ กระทรวง พม.โดย พก. เตรียมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไป 1) ศึกษาวิจัยและพัฒนาข้อมูลและโมเดลการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ประเมินและคัดกรองความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุแบบอัตโนมัติในเบื้องต้น 2) ศึกษาออกแบบและพัฒนาระบบให้บริการข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และระบบแสดงผลข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเชิงพื้นที่ (Dashboard) ในรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย ค้นหาและตรวจสอบข้อมูลได้อย่างโปร่งใส สำหรับให้ผู้บริหารนำไปใช้วางแผนและตัดสินใจได้ทุกที่ ทุกเวลา และ 3) ศึกษาออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบเปิด (Open Data) และระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียน นักศึกษาและพัฒนาเพื่อให้เกิด Application ใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยและตรงต่อความต้องการยิ่งขึ้น

“ขอขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในความร่วมมือครั้งนี้ รวมถึงประชาชนที่ให้ความสนใจ มีส่วนร่วมในโครงการฯ ซึ่งจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ประเทศไทยเราจะมีข้อมูลสถานที่ที่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เป็นข้อมูลประกอบการที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อให้คนพิการและทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้โดยอิสระและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกด้าน รวมถึงการเข้าถึงบริการสวัสดิการในทุกมิติ เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างพลังทางสังคมที่เท่าเทียมต่อไป” นางสาวสราญภัทร กล่าวตอนท้าย

Related posts