นักลงทุนเชื่อดีลฉลุย ส่วนใหญ่เห็นด้วยควบรวมทรู-ดีแทค ขณะที่กสทช.แจงชัดดำเนินการตามกฎหมาย เดินหน้าต่อตามโรดแมปต่อ หลังมีข่าวฟ้องร้อง :
ตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อออนไลน์ว่ามีผู้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับการแก้ไขประกาศ กสทช.ปี 2561 เรื่องการควบรวมกิจการ โดยมีการแก้ไขกฎหมายให้ควบรวมได้โดยไม่ต้องขออนุญาต กสทช.นั้น ในการนี้ส่งผลให้ กสทช.ต้องใช้เวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด(Focus Group) ออกมาอธิบายอย่างละเอียดถึงขั้นตอนการอนุญาตควบรวมว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง และในการประชุมครั้งแรกเป็นการรับฟังความเห็นจากกลุ่มธุรกิจต้นน้ำ กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ และกลุ่มตัวแทนอุตาหกรรมหรือสมาคมต่างๆ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการควบรวมทรูดีแทค ส่งผลให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าดีลควบรวมฯจะผ่านการพิจารณาในที่สุด
แหล่งข่าวจากวงการทนายความ เปิดเผยว่า เมื่อ 5 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา นายณภัทร วินิจฉัยกุล ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องการแก้ไขประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ โดยเป็นการยื่นฟ้องร้องในนามบุคคล ไม่เกี่ยวกับการเป็นกรรมการติดตามและประเมินผล กสทช. แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรากฏว่านายณภัทรไม่ได้เป็นลูกค้าทั้งของทรูและดีแทค แต่ใช้โทรศัพท์มือถือของค่ายเอไอเอส จึงทำให้การยื่นฟ้อง กสทช.ในครั้งนี้ ต้องหาประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะต้องมีความชัดเจน ซึ่งหากไม่ได้ยื่นฟ้องในฐานะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ และเป็นการฟ้องในนามบุคคลนั้น ความเสียหายของผู้ฟ้องร้องคดีคืออะไร ยังไม่เป็นที่แน่ชัด จึงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักกฎหมาย
ทั้งนี้มีการเปิดเผยข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่า STATO Public Law เป็นผู้รับมอบอำนาจ (ทนายความ) ในการสู้คดีครั้งนี้ อ้างว่า การฟ้องร้องเป็นเรื่อง การแก้ไขประกาศของ กสทช. ปี 2561 มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เช่น ประกาศในปี 2561 ขัดกับกฎหมายที่มีระดับใหญ่กว่าอย่างพรบ. และยังขัดกับประกาศ กสทช. ปี 2549 ที่ออกแบบเอาไว้ว่าการควบรวมจะต้องใช้ระบบอนุญาต ไม่ใช่แจ้งเพื่อทราบ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่ง นายณภัทร วินิจฉัยกุล ในขณะนั้นดำรงกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของกสทช. อยู่แล้ว แต่กลับไม่เคยท้วงติงในขณะปฏิบัติหน้าที่ และในช่วงที่ผ่านมาเกิดการควบรวมหลายกรณี โดยใช้กฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2561 นายณภัทรก็ไม่เคยออกมาคัดค้าน หากมีความเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เหตุใดจึงละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะปล่อยเวลาล่วงเลยมาถึง 4 ปี กระทั่งเกิดการควบรวมทรูและดีแทค และตอนที่เกิดการควบรวมองค์การโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ก็ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน ก็ไม่เคยออกมาคัดค้าน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า การใช้สิทธิของการเป็นประชาชนในการฟ้องร้อง และเป็นลูกค้าของค่ายเอไอเอส ทำให้อาจทำให้เชื่อได้ยากว่าเป็นผู้เสียหาย โดยไม่ใช้บทบาทกรรมการที่รับผิดชอบโดยตรง ทำให้สังคมสงสัยประเด็นดังกล่าว ซึ่งต้องไปว่ากันต่อไป
ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 บนเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด(Focus Group)เกี่ยวกับกรณีควบรวมทรูดีแทค นางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. ได้ชี้แจงรายละเอียดยิบ เกี่ยวกับการควบรวมทรูและดีแทค ก่อนการเปิดให้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยให้ข้อมูลว่า “การดำเนินการควบรวมของทรูและดีแทคนั้น เป็นไปตามประกาศเรื่อง การกำกับดูแลการควบรวมกิจการโทรคมนาคม โดยมี 4 ขั้นตอนคือ ผู้รับใบอนุญาต ที่ประสงค์จะทำการรวมกิจการกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ก่อนการดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ ทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ หรือ ทำสัญญาซื้อขายหุ้น โดย ขั้นที่สองคือ กสทช. จะดำเนินการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจ ในขั้นที่สามคือ ที่ปรึกษาอิสระจัดทำความเห็น และ ในขั้นตอนสุดท่ายคือ เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ซึ่งถือว่า บทบาทของกสทช. ได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ นอกจากนี้ หากการรวมธุรกิจส่งผลให้ 1) ตลาดที่เกี่ยวข้อมีดัชนี HHI มากกว่า 2,500 และ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 2) มีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ 3) มีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือนำมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้”
รายงานข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 เป็นประกาศที่ออกมาก่อนการควบรวมทรู ดีแทค ถึง 4 ปี และในช่วงที่ผ่านมาได้มีบริษัทอื่น ๆ ในธุรกิจโทรคมฯดำเนินควบรวมสำเร็จโดยใช้กฎหมายฉบับนี้มาแล้ว เช่น กรณีการสื่อสารแห่งประเทศไทย ควบรวมกับองค์การโทรศัพท์ เกิดเป็นบริษัท NT หากพิจารณาย้อนหลังกลับไป ต้องบอกว่า ไม่ใช่การควบรวมทรูกับดีแทคจะเกิดขึ้นเป็นรายแรกภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.เพราะภายใต้ประกาศ กสทช. ปี 2561 กสทช.ยังคงมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข แต่ไม่สามารถไปกีดกันการปรับตัวของผู้ประกอบการ หรือปฏิเสธการควบรวม เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการควบรวมภายใต้กฎหมายฉบับนี้มาแล้วหลายราย ยกตัวอย่างเช่น การควบรวม ALT Telecom กับ อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในปี 2562 การควบรวม ALT Telecom กับ สมาร์ท อินฟราเนท ในปี 2563 การควบรวม TOT กับ CAT ในปี 2564 และการควบรวม ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ตกับทริปเปิลที บรอดแบนด์ ในปี 2564
ดังนั้นหากต้องกำหนดเงื่อนไข หรือนำมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ หลังการควบรวม คงต้องบังคับใช้กับทุกรายที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่เลือกปฏิบัติ และ หากจะไม่อนุญาตให้ควบรวม ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า กรณีอื่น ๆ ที่ควบรวมภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันทำไมถึงทำได้ และ หากมีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน จะดำเนินการอย่างไร กับบริษัทที่อนุมัติไปแล้ว ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ก็เสี่ยงต่อกฎหมาย ที่อาจส่งผลถึงตัวบุคคลได้
ทั้งนี้การสร้างวาทะกรรมว่า ประกาศของ กสทช. ปี 2561 มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นเหตุที่ทำให้สงสัยได้ว่า การหยิบยกมาหลังประกาศได้ใช้ไปแล้วกว่า 4 ปี มีความมุ่งหมายใดเป็นพิเศษหรือไม่ และผู้ฟ้องร้องอาจทำให้สงสัยได้ว่า ในขณะปฏิบัติหน้าที่เหตุใดจึงไม่เคยยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมา อีกทั้งการกล่าวหา กสทช.ว่า ประกาศ กสทช. ปี 2561 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ยังเสี่ยงต่อการกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐานหรือไม่ เพราะกฎหมายฉบับดังกล่าว มีการดำเนินการตามขั้นตอน และผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมทุกราย ก็เห็นชอบกับกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงเลย หากจะเลือกปฏิบัติกับรายใดรายหนึ่ง กสทช. คงต้องหลังพิงกฎหมาย ไม่มีใครกล้าทำตามเสียงกระซิบ แต่ไม่มีใครร่วมรับผิดชอบ ดังนั้น หากทุกคนทำหน้าที่ของตนตามกฎหมาย เคารพต่อกฎกติกาที่เท่าเทียม ปัญหาในสังคมก็จะน้อยลง และกฎหมาย มิใช่เครื่องมือในการสร้างความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดแต่อย่างใด