เกษตรกรเลี้ยงหมู หวั่น ‘ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู’ นำโรคเข้าไทย ซ้ำเติมวิกฤติ ขอรัฐเร่งกวาดล้างสิ้นซาก :
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังคงมี “ขบวนการนำเข้าเนื้อหมู” กระจายในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะแถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ในจังหวัดติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน คนกลุ่มนี้กำลังแสวงหาผลประโยชน์ บนความทุกข์ของเกษตรกรไทย โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะเนื้อหมูและชิ้นส่วนผิดกฎหมายที่นำเข้ามาจากหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน บราซิล อิตาลี เบลเยียม และเกาหลี ที่สำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าประเภทอาหารทะเล หรือวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งๆที่เนื้อหมูลักลอบนี้ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโรคสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์ ซ้ำยังไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้า และหลักฐานแสดงที่มาของแหล่งกำเนิด ซึ่งหากซากสัตว์เป็นโรคระบาด หรือพาหะของโรคระบาด ย่อมมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคระบาดสัตว์ เป็นการซ้ำเติมวิกฤตที่เกษตรกรกำลังประสบอยู่ ที่สำคัญจากหลายประเทศอนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ได้ ในขณะที่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงสัตว์อย่างเด็ดขาด มาตั้งแต่พ.ศ.2545 ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปี พ.ศ.2546 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หมูลับลอบที่นำมาจำหน่ายปะปนกับหมูไทยทั่วประเทศ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังถือเป็นการบ่อนทำลายความปลอดภัยทางอาหารของประชาชนไทยอย่างร้ายกาจ
“ปัญหา ASF ในหมู ที่พบเมื่อปลายปี 2564 และยังคงพบในบางพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกษตรกรต้องปรับวิธีการเลี้ยงและการจัดการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เพื่อไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำอันตรายกับหมูในฟาร์มได้ แต่ขบวนการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนผิดกฎหมาย กำลังบ่อนทำลายระบบการป้องกันโรคของไทย เป็นคลื่นใต้น้ำนำพาทั้งโรคหมูและสารอันตรายเข้ามาทำลายทั้งเกษตรกรไทยจากความเสี่ยงต่อโรคระบาด และการถูกบิดเบือนตลาดจากปริมาณหมูที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันคนไทยยังต้องตายผ่อนส่งจากสารอันตรายที่แฝงมากับเนื้อหมูเถื่อน ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยจากการได้รับสารดังกล่าว และยังมีความเสียหายจากการไม่เสียภาษีตามระบบทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้ ถือเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจอันใหญ่หลวง เกษตรกรขอเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เร่งตรวจตราและกวาดล้างขบวนการนี้ไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูมาทำลายคนไทยเด็ดขาด” นายสุนทราภรณ์ กล่าวและว่า
เกษตรกรขอยืนหยัดคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ และขอให้กลไกตลาดเป็นแนวทางในการปรับสมดุลราคาสินค้า ดังที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหามาโดยตลอด เพื่อให้เกษตรกรยังสามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสำหรับผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม ไม่ถูกบิดเบือนกลไกราคา และยังเป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงที่กำลังตัดสินใจกลับเข้าสู่ระบบ หลังจากต้องตัดสินใจหยุดพักการเลี้ยงไปเพื่อรอดูสถานการณ์การผลิตและโรคในสุกรให้คลี่คลายก่อนกลับมาเลี้ยงหมู ที่จะช่วยเพิ่มซัพพลายหมูในอุตสาหกรรมให้เพียงพอกับการบริโภคอย่างยั่งยืน./