เร่งรัฐกวาดล้าง “ไอ้โม่ง” ลักลอบนำเข้าหมู ระบาดหนักทั่วไทย  เกษตรกรทุกข์ซ้ำ แบกปัญหาต้นทุนสูง :

เร่งรัฐกวาดล้าง “ไอ้โม่ง” ลักลอบนำเข้าหมู ระบาดหนักทั่วไทย  เกษตรกรทุกข์ซ้ำ แบกปัญหาต้นทุนสูง :

เรื่องโดย จิตรา ศุภาพิชญ์ นักวิชาการอิสระ ศึกษาทางด้านการเกษตร

การทำลายซากหมูแช่แข็ง 21,473 กิโลกรัม โดยกองสารวัตรและกักกัน ที่จับมือกับด่านกักกันสัตว์เพชรบุรี ดำเนินการ หลังจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าตรวจสอบห้องเย็นในพื้นที่ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จากที่ได้รับรายงานว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสุกรมาจากต่างประเทศและเก็บซุกซ่อนไว้ ถือเป็นภารกิจการเร่งตัดวงจรแหล่งเนื้อหมูเถื่อน เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสุกรผิดกฎหมาย

ที่สำคัญหลังจากตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ไม่พบว่ามีการแสดงแหล่งที่มา ไม่มีเอกสารการเคลื่อนย้าย และเมื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อโรคระบาดสัตว์ในห้องปฏิบัติการยิ่งน่ากังวล เพราะตรวจพบว่ามีเชื้อโรคระบาด ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมายมีอยู่จริง และไม่เพียงซากหมู 2 หมื่นกว่ากิโลกรัม ที่ถูกทำลายนี้เท่านั้น แต่ชิ้นส่วนหมูเถื่อนจากการลักลอบนำเข้าโดยขบวนการทำลายชาติเช่นนี้ กำลังแพร่ระบาดทั่วประเทศ พบมากในเขตเมืองหลวงของอุตสาหกรรมหมูอย่างนครปฐม และในตลาดหลายแห่งในกรุงเทพฯ แถมยังมีการโพสต์ขายอย่างโจ่งแจ้ง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย มีสถานที่เก็บแถวแหลมฉบัง และมหาชัย สินค้าลักลอบเหล่านี้มักสำแดงเป็นอาหารทะเล หรือวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง

วันนี้ไทยกลายเป็นตลาดกระจายชิ้นส่วนหมูเถื่อน ในรูปแบบชิ้นส่วนสดแช่แข็ง (Frozen) ทั้งเนื้อแดง สามชั้น ซี่โครง หนังหมู ไส้ ตับ ขั้วตับ และเครื่องในส่วนอื่นๆ ที่เป็นเศษเหลือทิ้งจากการบริโภค หรือ “ขยะ” ของประเทศต้นทาง ทั้งบราซิล เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สเปน และประเทศอื่นๆ ที่วันนี้ถูกเทลงมาที่ไทย

การบริโภคหมูลักลอบนำเข้านี้ ไม่ต่างอะไรกับ “การป้อนยาพิษ” ให้คนไทย เพราะความเสี่ยงในการได้รับสารอันตรายที่ปนเปื้อนมาด้วย เนื่องจากซากหมูทั้งหมดไม่ผ่านการสุ่มตรวจสอบความปลอดภัย และกระบวนการตรวจสอบโรคตามข้อกำหนดของภาครัฐ โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดง ที่ในหลายประเทศอนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงหมูได้อย่างเสรี แต่สารนี้ผิดกฎหมายไทย เพราะห้ามไม่ให้ใช้ในการเลี้ยงหมูมานานกว่า 20 ปี ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546

และคนไทยยังต้องเสี่ยงรับเชื้อโรคเชื้อต่างๆที่มาพร้อมหมูเถื่อน ซึ่งเชื้อโรคทุกชนิดนั้นทนทายาท สามารถอยู่ในผลิตภัณฑ์หมูสดแช่แข็งในอุณหภูมิติดลบได้นานนับปี ยิ่งวันนี้ทั้งโรคโควิด-19 ฝีดาษลิง และโรคติดต่อต่างๆ ก็แพร่กระจายจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกได้อย่างง่ายดาย ยิ่งกลายเป็นความเสี่ยงของคนไทยมากขึ้น

ดูอย่างผลการตรวจซากหมูเถื่อนข้างต้นในห้องปฏิบัติการ ก็เห็นได้ชัดว่าในชิ้นส่วนหมูนอกผิดกฎหมายที่ไม่รู้แหล่งที่มานั้น มีเชื้อโรคระบาดสัตว์ปะปนมาด้วย เรื่องนี้ยิ่งน่าเป็นห่วงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย ที่จำต้องรับเอาโรคต่างถิ่นที่กลายเป็นภัยคุกคาม อย่างที่ไม่อาจป้องกันใดๆได้เลย

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ขณะนี้ภาคผู้เลี้ยงก็ประสบปัญหารุมเร้าอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของ ASF ในหมู โรคที่สร้างบาดแผลแสนสาหัสกับอุตสาหกรรมหมูทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย นับตั้งแต่รับรู้การมาของโรคจากจีนเมื่อปลายปี 2561 คนเลี้ยงหมูต่างกังวลต่อภาวะโรคที่ไม่มีแม้แต่ยารักษาหรือวัคซีนป้องกัน หากพบโรคนี้ก็ต้องทำลายหมู 100% เท่านั้น และไม่สามารถเลี้ยงหมูต่อได้ไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ทำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูไทยจากกว่า 2 แสนราย เริ่มหายไปทีละน้อย เพราะไม่อยากเสี่ยงกับภาวะขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาภาวการณ์เลี้ยงแทบหยุดชะงักเกือบเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ จนกระทั่งโรคนี้เข้ามาเจาะไข่แดงประเทศไทยได้ ถึงวันนี้คนผู้เลี้ยงเหลือเพียงแสนกว่ารายเท่านั้น จำนวนหมูจึงลดลงไปเกินกว่าครึ่งของทั้งประเทศ

ส่วนคนที่ยังสู้เลี้ยงหมูต่อ ก็ต้องแบกภาระทั้งการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 3 ปี และยังเจอกับปัญหาใหญ่เมื่อโลกถูกฉาบด้วยภาวะสงคราม ระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ธัญพืชทั่วโลกขาดแคลน ราคาพืชสำคัญทุกชนิดปรับตัวขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ กลายเป็นแรงกดดันสำคัญต่อภาคผู้ผลิตสัตว์ที่ต้องรับต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว สงครามยังมีผลกระทบต่อต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับเพิ่มต่อเนื่อง เป็นอีกต้นทุนก้อนใหญ่ของทั้งภาคขนส่งและภาคการเลี้ยงสัตว์ จึงไม่แปลกที่ต้นทุนการเลี้ยงหมูไทยจะสูงถึง 98.81 บาทต่อกิโลกรัม สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

การเข้ามาของเนื้อหมูผิดกฎหมายที่หลั่งไหลมาจากหลายประเทศ จึงซ้ำเติมทุกข์ของเกษตรกร ทั้งเรื่องโรคระบาดสัตว์ที่ติดมาด้วย และความบิดเบี้ยวของตลาดหมู จากการที่เนื้อหมูเหล่านี้มาปะปนขายรวมกับหมูไทย คนไทยยังต้องตายผ่อนส่งจากสารปนเปื้อนอันตราย ที่มองไม่เห็นและไม่มีโอกาสป้องกันตัวเองเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญรัฐต้องสูญเสียรายได้ จากสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีตามระบบ หมูผิดกฎหมายนี้จึงสร้างลผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายกาจ เกินกว่าจะประเมินความเสียหายได้

วันนี้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงต้องเดินหน้าภารกิจตรวจติดตามสต๊อกการผลิตหมูและปริมาณหมู ตามฟาร์ม โรงเชือด และห้องเย็นต่างๆเท่านั้น แต่ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ต้องเร่งกวาดล้าง “ไอ้โม่ง” เหล่านี้ให้สิ้นซากโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ขบวนการนี้มาบ่อนทำลายชาติ กัดกินสุขภาพคนไทย และกลืนกินอาชีพเกษตรกรเลี้ยงหมูได้อย่างเด็ดขาด./

Related posts