ฝีดาษลิง โรคระบาดที่ควรระวัง :
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง เป็นอีกโรคที่สร้างความกังวลให้หลายประเทศทั่วโลก เพราะมีเริ่มมีการแพร่กระจายเชื้อในหลายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการจะคล้ายกับการเป็นอีสุกอีใส ที่สามารถแพร่ได้จากสัตว์สู่คนและจากคนสู่คน การรู้วิธีป้องกันและรักษาเบื้องต้นเมื่อมีการติดเชื้อจะเป็นอีกทางที่สามารถหยุดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้
พญ.พรรณพิศ สุวรรณกุล อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษในคน หรือไข้ทรพิษ และในปัจจุบันทั่วโลกพบคนติดเชื้อกว่า 100 คน ประมาณ 20 ประเทศทั่วโลก จะเป็นประเทศแถบแอฟริกา ยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย เป็นเชื้อไวรัสที่มาจากสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น เม่น กระรอก หนูป่า กระต่าย เป็นต้น จนกระทั่งมาพบในลิง สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำเหลือง น้ำหนอง หรือเลือด หลังจากได้สัมผัสแล้วเชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 7-14 วัน โดยจะมีอาการ ปวดเมื่อยตัว ปวดหลัง ปวดหัว ปวดกระบอกตา มีไข้ เมื่อไข้ลดประมาณ 4-5 วันจะมีผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าผื่นจะขึ้นที่ไหนก่อน เพราะผู้ติดเชื้อแต่ละคนจะมีผื่นขึ้นไม่เหมือนกัน บางคนขึ้นที่หน้าก่อน บางคนขึ้นที่หลังหรือขึ้นที่ตัวก่อน โดยอาการเริ่มแรกจะเป็นผื่นแดง ต่อมาจะเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และเป็นสะเก็ดในท้ายที่สุด ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ใน 3 สัปดาห์ โดยผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อมากที่สุดจะเป็นเด็กเล็ก และไม่ใช่โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ขณะมีเพศสัมพันธ์
โดยยังไม่มีวิธีการรักษาจากโรคนี้ แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันฝีดาษในคนสามารถป้องกันฝีดาษลิงได้เช่นกัน และไม่มีวิธีที่สามารถตรวจหาภูมิได้ว่าเคยได้รับวัคซีนในการป้องกันไข้ฝีดาษมาก่อนหรือไม่ และในขณะนี้มีบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศเดนมาร์ก ที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนไข้ทรพิษหรือฝีดาษเพียงเจ้าเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ และมีมากกว่า 20 ประเทศที่มีการสั่งจองวัคซีนนี้แล้ว โรคฝีดาษลิงสามารถป้องกันได้โดยใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่รับประทานอาหารจากสัตว์ป่าที่ปรุงไม่สุก และไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง ถ้ามีการติดเชื้อแล้วควรกักตัวแยกจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายดี
ในขณะนี้ต้องขอความร่วมมือจากผู้ที่จะเข้าประเทศไทยโดยมีที่มาจากประเทศต้นทางจากประเทศเหล่านี้ ว่าควรให้ข้อมูลตามจริง ว่ามีอาการหรือไม่ ไม่ควรปิดบัง และหากมีอาการเกิดขึ้นแล้วถ้ามีอาการคันตามผื่นหรือตุ่มที่เกิดขึ้นตามตัวไม่ควรเกาหรือแกะเพราะจะทำให้เกิดแผลเป็นที่แก้ได้ยาก ดังนั้นทางโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงตระหนักในโรคดังกล่าวและเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรับมือเพื่อเข้าถึงการรักษาในอนาคตต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกอายุรกรรม รพ.กรุงเทพ โทร.1719 หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital