พม. ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเผยแพร่ข้อมูลรายงาน “สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ” :

พม. ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเผยแพร่ข้อมูลรายงาน “สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ” พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณนักปกป้องสิทธิต่อบุคคลและหน่วยงานที่สนับสนุนด้านปกป้องสิทธิผู้หญิงพิการ :

วันที่ (22 มิ.ย. 65) เวลา 14.15 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดงานเวทีเผยแพร่ข้อมูลรายงาน “สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ” พร้อมทั้งมอบโล่ประกาศเกียรติคุณนักปกป้องสิทธิต่อบุคคล และหน่วยงานที่สนับสนุนด้านปกป้องสิทธิผู้หญิงพิการ ได้แก่ นางสาวกนกอร สายทอง นางสาวณฐมน ยอดเพชร ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดพิษณุโลก นายไพวัลย์ แสงสุนทร นางสาวพวงเพชร ลิมปีสุรีย์ และนาวอรนุช  ชัยชาญ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ทั้งนี้ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชาบดี ชั้น 19 กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ

นางพัชรี กล่าวว่า เวทีเผยแพร่ข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ ในวันนี้ กระทรวง พม. โดย พก. ให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมและบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ  เอกชน  และประชาสังคม รวมทั้งองค์กรคนพิการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและผู้หญิงพิการได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมความเสมอภาค เพื่อลดการกระทำความรุนแรง เข้าถึงและได้รับสิทธิสวัสดิการ และมีความเท่าเทียมในสังคม โดยที่ผ่านมา กระทรวง พม. โดย พก. มีความพยายามในการผลักดันการดำเนินงานด้านผู้หญิงพิการ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า การล่วงละเมิดสิทธิไม่ว่าจะกลุ่มบุคคลใด เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้น บทบาทของกระทรวง พม. คือ การสนับสนุนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยให้เด็กและผู้หญิงพิการได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญคือการปกป้องและเอาผิดกับผู้กระทำความผิด กระทรวง พม. จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พก. และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ดำเนินการสนับสนุนให้เด็กและผู้หญิงพิการเข้าถึงสิทธิทางกฎหมาย และการสนับสนุนด้านอื่นที่จำเป็นสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมทั้งการทำงานร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่มีการถอดรูปแบบกระบวนการทำงาน เช่น กรณีการค้ามนุษย์ที่ดำเนินการใน 4 มิติ ประกอบด้วย การป้องกัน การช่วยเหลือเยียวยา การดำเนินคดี และการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยทางกระทรวง พม. พร้อมสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกให้บรรลุเป้าหมาย

นางพัชรี กล่าวต่อไปอีกว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทำให้คนในครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น และก่อให้เกิดคดีล่วงละเมิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งการที่จะให้เด็กหรือผู้หญิงออกมาและกล้าฟ้องหรือแจ้งความเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ เช่น พ่อกระทำลูก แต่ลูกไม่กล้าบอกใคร เพราะด้วยความที่เป็นพ่อ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่จะต้องเข้าไปช่วยในกระบวนการรับรู้สิทธิ ปกป้อง และเคียงข้างในกระบวนการยุติธรรมจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ  ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้ผู้ที่ถูกละเมิด “กล้า” และ “ไม่รู้สึกว่าสู้อยู่คนเดียว” ก่อนจะเข้าสู่การยอมแพ้ จนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนสิ้นสุดกระบวนการ ต้องขอขอบผู้ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณในวันนี้ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้หญิงพิการตั้งแต่เริ่มต้น เพราะกระทรวง พม. คงทำเรื่องนี้เพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ ซึ่งทุกคนล้วนเป็นส่วนที่เติมเต็ม มีส่วนร่วมต่อสู้ด้วยกัน ทำให้ชนะและเกิดเป็นคดีตัวอย่าง ซึ่งการเข้ามาช่วยกัน ล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์ที่เข้าใจผู้เสียหาย สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

นางสาวสราญภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อมูลคนพิการไทย โดย พก. ณ วันที่ 31 มี.ค. 65 พบว่า มีจำนวนคนพิการ 2,108,536 คน คิดเป็น 3.19% ของจำนวนประชากรไทย และเป็นผู้หญิงพิการ 1,006,699 คน หรือร้อยละ 47.74 โดยมีสถานการณ์ความรุนแรงของการล่วงละเมิดทางเพศกับกลุ่มเด็ก ผู้หญิง ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ผู้หญิงพิการ และเด็กพิการ จะเป็นกลุ่มที่มักถูกกระทำซ้ำ และถูกเลือกปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขสถิติที่ได้มีการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ อีกทั้งกลุ่มคนพิการยังเป็นกลุ่มที่ควรต้องมีกลไกในการเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้คนพิการตกเป็น “ผู้ถูกกระทำ” หรือ “เหยื่อ” ความรุนแรงในครอบครัว

ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงและเด็กหญิงพิการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถเข้าถึงสิทธิและขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ รวมถึงการขับเคลื่อนภารกิจร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงพิการ ไม่ให้ถูกกระทำความรุนแรง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำงานของทีมสหวิชาชีพในการให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรง การพัฒนาล่ามในกระบวนการยุติธรรม สู่การผลักดันการดำเนินงานด้านการคุ้มครองสตรี การสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้หญิงและเด็กหญิงพิการ และการสนับสนุนบทบาทของสตรีและเด็กหญิงพิการในเวทีระดับชาติและระดับสากล

Related posts