พม. บุรีรัมย์ เร่งช่วยเหลือเด็กหญิง วัย 11 ปี ถูกล่ามโซ่ในบ้าน :
วันนี้ (3 ส.ค. 65) เวลา 16.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กรณีมีผู้ใช้ Facebook โพสต์คลิป เด็กหญิงถูกล่ามโซ่ไว้ในบ้าน โดยมีปู่กับย่าเด็กเป็นผู้ควบคุมและใช้ไม้ตีหลานตัวเอง ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ นั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยทีม One Home พม. จังหวัดบุรีรัมย์ จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแล้วตามภารกิจของกระทรวง พม.
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า เด็กหญิงผู้ถูกกระทำความรุนแรง อายุ 11 ปี กำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีอาการสมาธิสั้น ต้องรับยารักษาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยอยู่กับปู่ อายุ 59 ปี และย่า อายุ 50 ปี ซึ่งได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากพ่อและแม่ของเด็กแยกทางกัน และพ่อไม่ได้มาดูแล โดยวันเกิดเหตุ ปู่และย่าออกไปหาปลา ไม่ได้พาหลานไปด้วย จึงล่ามโซ่และใช้เชือกมัดกับขื่อบ้าน ซึ่งบางวันต้องออกไปทำงานรับจ้างเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว อีกทั้งได้ตีหลาน เพราะโมโหที่หลานมีนิสัยดื้อรั้น ชอบหนีไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนจนมืดจนค่ำ ไม่ยอมกลับบ้าน ซึ่งปู่และย่าได้ห้ามปราบไว้เป็นประจำ แต่หลานไม่ยอมเชื่อฟัง จึงจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง แต่กระทำด้วยความเป็นห่วงหลาน
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยทีม One Home พม. จังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันให้การช่วยเหลือต่างๆ ได้แก่ 1) พาเด็กไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลในพื้นที่ และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กชั่วคราว โดยแยกเด็กออกจากครอบครัว และให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ณ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ 2. ประสานโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อประเมินสภาพจิตใจกับแพทย์เฉพาะทาง และดำเนินการบำบัด ฟื้นฟูจิตใจเด็ก และ 3) ประชุมทีมสหวิชาชีพ เพื่อวางแผนการช่วยเหลือร่วมกับครอบครัว ในการปรับพฤติกรรมของเด็ก ปู่และย่าของเด็ก เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันได้เช่นเดิมต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเด็กถูกกระทำความรุนแรงหรือประสบปัญหาทางสังคม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงพม. พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่