รัฐโปรยยาหอม “อุ้มเกษตรกร” ไฉนเปิดให้นำเข้ากุ้งเอกวาดอร์-อินเดีย แล้วถาม 2 ประเทศนี้ไหม ว่าเคยนำเข้ากุ้งไทยหรือเปล่า? :
หลังการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ในกุ้ง ผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยจึงลดลงอย่างมาก ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ใน 3 ของผลผลิตสูงสุดที่ไทยเคยผลิตได้
เรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนสำคัญว่า ที่ผ่านมา รัฐฯไม่ดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างที่ควรจะเป็น เพราะหากจริงจังกับการแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้งแล้ว ผลผลิตกุ้งไทยคงไม่ลดลงถึงเพียงนี้
ประเด็นปริมาณกุ้งที่ลดลง จนกระทบกับการแปรรูปเพื่อการส่งออก จึงกลายเป็น “ช่องโหว่” ที่ช่วยเปิดทางให้ “การนำเข้ากุ้ง” เพื่อทดแทนส่วนที่หายไปนี้ เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ชอบธรรม โดยอ้างปริมาณที่ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปเพื่อการส่งออก ซึ่งเรื่องนี้กรมประมงก็ออกมายอมรับเองว่า “เรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูป สามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดียได้แล้วเป็นเรื่องจริง”
ทั้งๆที่ เรื่องที่ชอบธรรมที่ภาครัฐควรดำเนินการคือ “การทุ่มเทกับการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคกุ้ง” และ “การหาวิธีการรักษาที่ถูกต้องเห็นผลจริง” เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหากุ้งไทยที่เกษตรกรกำลังประสบอยู่
แต่รัฐฯกลับเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีที่แยบยลกว่านั้น ด้วยการนำเข้ากุ้งจากทั้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด โดยไม่มองถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร
การผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยกุ้งต่างแดน นอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการทำร้ายเกษตรกร และทำลายความมั่นคงทางอาหารอย่างสิ้นเชิง
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ การนำเข้า คือทดแทนความต้องการบริโภคในประเทศที่ไม่เพียงพอ แต่ประเทศนี้กลับนำเข้ามา repack เพื่อการส่งออก ทั้งที่ควรจะเร่งส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้เกษตรกรช่วยกันฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ให้สามารถผลิตผลผลิตกุ้งได้ตามเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายในปี 2566 ตามที่กรมประมงเคยให้คำมั่นไว้กับเกษตรกร เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยกลับมาผงาดในเวทีโลกได้อีกครั้ง ด้วยทุกวิถีทางที่จะทำได้
แต่ที่ผ่านมานอกจากจะไม่สนับสนุนแล้ว การส่งเสริมให้เกษตรกรมีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งทุนก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ถึงแม้จะมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง แต่ด้วยเงื่อนไขจุกจิกยุ่งยาก จึงมีเกษตรกรเพียงไม่กี่รายที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้
เมื่อไม่มีเงินทุน การพัฒนาฟื้นฟูการเลี้ยงย่อมไม่มีทางขับเคลื่อนได้ แล้ววันนี้ยังมีประเด็นการนำเข้ากุ้งมาให้ต้องกังวลอีก ว่าจะกระทบกับราคากุ้งในประเทศที่ถึงวันนี้ปริมาณจะไม่ได้มาก ก็ใช่ว่าราคาจะดีตามกลไกตลาด ในทางกลับกัน ทิศทางราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องดูไกลแค่ช่วงมกราคมจนถึงพฤษภาคม ราคากุ้งในเขตสมุทรสาครทุกขนาดปรับลงต่อเนื่อง เช่น กุ้งไซส์เล็ก 100 ตัว/กิโลกรัม จากราคา 144 บาทเมื่อมกราคม หล่นลงมาอยู่ที่ 110 บาท ส่วนกุ้งไซส์ใหญ่ 40 ตัว/กิโลกรัม จากราคา 242 บาท ลดเหลือเพียง 194 บาท ราคาเพิ่งจะกระเตื้องมาเล็กน้อย เพียงสองเดือนที่ผ่านมา ช่วงมิถุนายนถึงกรกฎาคม จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับปริมาณกุ้งที่น้อยลงเท่านั้น
ที่สำคัญการนำเข้ากุ้งเอกวาดอร์และอินเดียเข้ามาเช่นนี้ มีอะไรมาการันตีว่ากุ้งเหล่านั้นจะไม่หลุดออกมาปะปนขายทำกำไรในไทย การเอากุ้งนำเข้ามาดัมพ์ขายต่อ คนที่ย่อยยับก็ไม่แคล้วต้องเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย ที่ต้องเสียโอกาสให้กับกุ้งนอก เรื่องเหล่านี้มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น และหากผลผลิตกุ้งล้นตลาดอีกครั้ง ถึงเวลานั้นรัฐฯ จะเอาเงินจากที่ไหนมาชดเชยให้กับเกษตรกรจากความเสียหายที่เกิดขึ้น
ตอนนี้ยังพอมีเวลากลับตัว ยังมีอีกหลายเรื่องที่หากทำจริงจังจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งอย่างยั่งยืนได้แน่นอน ทั้งเรื่องการพัฒนาวัคซีนและการคิดค้นวิธีรักษาโรคในกุ้งอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้ากุ้งอย่างที่ทำอยู่ จะขาดก็แต่ความจริงใจที่ทุกภาคส่วนต้องมีเท่านั้นที่ต้องแสดงให้เห็นชัดเจนกว่านี้./
เรื่องโดย จิตรา ศุภาพิชญ์ นักวิชาการศึกษาด้านการเกษตร