พม. จับมือเครือข่าย ติวครูสู่โค้ช ปั้นเด็กรุ่นใหม่ให้สมบูรณ์พร้อม เป็นอนาคตประเทศ :
วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุมขวัญมณฑล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า วันนี้ ตนมาเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตร ครู โค้ช คน เข้าใจตนโค้ชคนเพื่ออนาคตรุ่นที่ 1 สำหรับครูประถมศึกษา เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. โดย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อประมาณ 2 ปี ที่มอบหมายให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และตน หาครูสู่โค้ชในขั้นต้นอย่างน้อย 20,000 คนทั่วประเทศ อย่างมีคุณภาพและเร็วที่สุด ซึ่งวันนี้ เกิดการอบรมหลักสูตรนี้ โดยครูทุกท่านมาอบรมด้วยใจจริงและจิตวิญญาณของความเป็นครูที่นอกเหนือจากหน้าที่ เป็นครูผู้ให้ที่มีความห่วงใยและปรารถนาดีต่ออนาคตของเด็ก
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในขณะที่ครูยังประสบปัญหาต่างๆ และต้องทำให้ลูกศิษย์ของตนพร้อมในการมีที่ยืนในจุดที่ควรได้รับการพัฒนา ซึ่งตัวเลขทางสังคมพบว่า เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดมีถึง 3.5 ล้านคน เด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปีละ 60,000 คน และวัยรุ่นที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวประมาณ 5 แสนคน ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงอยากทำโรงเรียนสอนผู้ปกครองว่าเลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ และเรากำลังจะทำให้เด็กส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้เห็นอนาคตประเทศไทยที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยครูทุกท่านจะเป็นคนทำให้เกิดขึ้นจริง
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่า วันนี้ เด็กอายุ 5 – 6 ขวบ มีมิติการรับรู้เท่ากับเด็กอายุ 11 – 12 ปี เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ส่วนผลวิจัยของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ถ้าไม่ฝึกฝนเด็กตั้งแต่อนุบาลเข้าประถมศึกษา ก็จะสายเกินไป ฉะนั้น ไม้อ่อนดัดง่ายเป็นจริงที่สุด ในขณะที่ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 55,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อม ให้สมบูรณ์ ซึ่งเราต้องดูแลฟูมฟักเด็กตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นให้รอดพ้นจากสิ่งไม่ดีและอบายมุขต่างๆ ดังนั้น หลักสูตรนี้จึงจำเป็นและสำคัญต่อการอยู่รอดของอนาคตประเทศ โดยจะเป็นอาวุธที่แหลมคมทำลายปัญหาวงจรความยากจนข้ามรุ่น และปัญหาสังคมต่างๆ เพราะครูคือโค้ช ซึ่งสถิติทางการแพทย์พบว่า เด็กช่วงอายุ 9 – 13 ขวบ จะเชื่อฟังโค้ชกีฬาและเพื่อนมากกว่าพ่อแม่
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ตนขอขอบคุณครูทั้ง 60 ท่านที่มาร่วมอบรมหลักสูตรนี้ ซึ่งท่านมาด้วยใจ โดยเราจะเติมอาวุธและเครื่องมือ เพื่อให้ท่านครบในการช่วยเหลือลูกหลานตนเอง โดยใช้ไดอารี่เล่มนี้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงานที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อว่าเราจะทำได้ทั้งเรื่องของตารางเวลา สิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่สำคัญ สิ่งที่ต้องทบทวน และเป้าหมายในชีวิต เป็นต้น ถือเป็นโค้ชของนักเรียน ซึ่งต่อไปเราจะแจกให้กับนักเรียนของเรา ขณะนี้ กรมกิจการเด็กฯ ได้ดำเนินการอย่างคู่ขนาน โดยเราต้องทำให้เด็ก 1 คน มีศักยภาพที่ต้องเตรียมพร้อมในศตวรรษที่ 21 ฉะนั้น สิ่งที่ครูให้เด็กไม่ใช่เพียงการท่องจำ แต่เด็กต้องคิดเป็นและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่สูงมาก ซึ่งเราต้องพัฒนาทุนมนุษย์ด้วย 7 Q (Quotient) หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ ครูสู่โค้ชจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และต้องอาศัยคุณหมอที่รู้ถึงวิวัฒนาการของเด็กในช่วงวัยต่างๆ รวมทั้งพ่อแม่ที่เข้าใจลูกในช่วงวัยต่างๆ อีกด้วย เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้สูงมาก ส่งผลให้มีความทรหดอดทนเป็นเลิศ เพื่อความสามารถในการอยู่รอดได้
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ตนมาหาทุกท่านในฐานะผู้บริหารที่เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่รับทราบปัญหาของประชาชน และได้รับโจทย์จากนายกรัฐมนตรี โดยโฟกัสที่ปัญหาสังคม ซึ่งวันนี้ปัญหามากมายอยู่ที่เด็ก และมีสาเหตุมาจากผู้ใหญ่ เราต้องช่วยกันทำให้พ่อแม่ได้ยินลูกและกล่อมเกลาเลี้ยงดูลูกให้เป็นเด็กที่มีอิสระอย่างมีกรอบ และต้องช่วยกันจัดการกับคนที่มาแสวงหาประโยชน์กับเด็ก ซึ่งเด็กได้ยินสิ่งที่เราทำ แต่ไม่ได้ยินสิ่งที่เราพูดอย่างทำอย่าง และเราติวหนังสือให้เด็กแค่สอบผ่าน แต่เราไม่ได้ทำให้เป็นเด็กที่มีความรู้รอบด้านและเป็นเด็กที่ สมบูรณ์พร้อม ทั้งนี้ ทุกท่านจะเป็นครูสู่โค้ชที่ปั้นคนให้เป็นคนที่สังคมไทยต้องการ โดยเรามาทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตของประเทศที่เราสามารถฝากไว้กับคนรุ่นหลังได้