วว. ร่วมมือ AEPW กทม. PPP Plastic จัดตั้ง Smart Recycling Hub ชู “กรุงเทพมหานคร” โมเดลต้นแบบจัดการแปรรูปวัสดุรีไซเคิล ตั้งเป้าขยายผลไปยังพื้นที่ EEC :
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) สถาบันพลาสติก กรุงเทพมหานคร กลุ่มบริษัทสมาชิก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในประเทศไทย และ Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics) ประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนการจัดการพลาสติกและวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืน เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) จัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร “Smart Recycling Hub” นำร่องโมเดลต้นแบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมขยายผลไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนากลไก รวบรวม คัดแยก แปรรูป เป็นวัสดุรีไซเคิลสะอาดคุณภาพสูง ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy สร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ตั้งเป้าเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ 50,000 ตันต่อปี
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือขององค์กรที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อการจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร Smart Recycling Hub จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง พร้อมนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทย ไปขยายผลและนำไปใช้จริงในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบครบวงจร ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG และทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก
“…สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีภารกิจในการวิจัยพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน พร้อมส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการ Smart Recycling Hub ได้รวมเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผนวกกับความรู้ขั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อการปรับปรุงระบบนิเวศของการฟื้นฟูวัสดุใช้แล้วให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการจัดการปัญหาของทั่วโลกเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ ภายใต้โครงการ Smart Recycling Hub จะได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่รวบรวมและคัดแยกวัสดุรีไซเคิล ร่วมกับการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับพลาสติกรีไซเคิลในการเกิดวัตถุดิบรอบสอง Material Recovery Facility (MRF) ที่มีคุณภาพสูง เพิ่มอัตราการนำวัสดุกลับมารีไซเคิล ช่วยลดต้นทุนในการจัดการของเสีย สร้างงานและสร้างรายได้ วว. ภาคภูมิใจที่ได้นำการวิจัยและเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญสู่การใช้จริง ส่งผลดีและเกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม… we are partner for your success…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ด้านสิ่งแวดล้อม) กล่าวว่า กทม. มีเป้าหมายผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น “กรุงเทพเมืองสะอาด” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ กทม. ที่ได้มีการรณรงค์ในโครงการ “ไม่เทรวม” แยกขยะเศษอาหารจากต้นทาง โดยนำร่องที่เขตหนองแขม เขตพญาไท และเขตปทุมวัน เพื่อเชิญชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมคัดแยกขยะอินทรีย์ออกจากวัสดุรีไซเคิลและขยะแห้ง ดังนั้นความร่วมมือของทุกฝ่ายในครั้งนี้ จึงเป็นจุดสำคัญในการส่งเสริมนโยบายและต่อยอดโครงการของ กทม. เพื่อสร้างคุณค่าของวัสดุเหลือใช้และมีส่วนสำคัญในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง เป็นระบบ ทำให้สามารถลดปัญหาขยะและงบประมาณในการจัดการได้อีกทางหนึ่ง
นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Dow กล่าวว่า AEPW ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมพลาสติกชั้นนำระดับโลก มีความยินดีที่เห็นหน่วยงานในประเทศไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรประชาสังคม มุ่งมั่นและร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน AEPW มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยจะเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดตั้งศูนย์ต้นแบบ ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว จะคัดแยกวัสดุเหลือใช้และแปรรูปเบื้องต้น เพื่อเตรียมเป็นวัสดุรีไซเคิลที่สะอาดและมีคุณภาพสูงต่อไป นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลการรับซื้อวัสดุเหลือใช้ ในรูปแบบครบวงจร ตั้งแต่การรับซื้อจากครัวเรือน กลุ่มผู้รับซื้อของเก่ารายย่อย (ซาเล้ง) หน่วยงานเก็บขน จนถึงขั้นตอนการปฏิบัติการของศูนย์ฯ โดยเป็นการนำความเชี่ยวชาญแต่ละด้านทั้งในและต่างประเทศมาร่วมกันสร้างคุณค่าวัสดุเหลือใช้และสร้างทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าในการเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ 50,000 ตันต่อปี
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า ในฐานะที่กลุ่มดาวเป็นสมาชิก AEPW และ PPP Plastics ซึ่งได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ฯ Dow มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดงานประกาศความร่วมมือ Smart Recycling Hub โดย PPP Plastics ได้สนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นในการศึกษาดังกล่าว และ AEPW จะให้การสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ฯ ในพื้นที่นำร่องของกรุงเทพฯ และพื้นที่ EEC โครงการนี้จะช่วยสร้าง ecosystem และเชื่อมโยงให้มีระบบจัดการวัสดุใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยครอบคลุมตั้งแต่ต้นทาง คือ ผู้บริโภคจนกระทั่งวัสดุกลับเข้าไปยังกระบวนการผลิตอีกครั้ง ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น เกิดเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
นายวีระ ขวัญเลิศจิต ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติกและเลขาธิการ PPP Plastics กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเบื้องต้นจากโครงการนี้ จะนำไปใช้ในการพัฒนาและจัดตั้งระบบต้นแบบในพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้างศูนย์คัดแยกและแปรรูปวัสดุใช้แล้ว MRF โดยจะนำผลสำเร็จจากการตั้งศูนย์ฯ นำร่องนี้ไปขยายผลยังพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ EEC โดยศูนย์ฯ ดังกล่าว จะมีกลไกการทำงานในการคัดแยกวัสดุเหลือใช้และแปรรูปเบื้องต้น เพื่อเตรียมเป็นวัสดุรีไซเคิลที่สะอาด และมีคุณภาพสูง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป