‘WUWM Bangkok 2024’ ตอกย้ำศักยภาพไทย ศูนย์กลางค้าส่งสินค้าเกษตรภูมิภาค ‘ตลาดไท’ โชว์ความพร้อมรองรับเทรนด์โลกในอนาคต :
ปทุมธานี, 23 พฤษภาคม 2567 – การประชุมประจำปี ของสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรโลก หรือ World Union of Wholesale Markets : WUWM ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสด ที่มีองค์กรสมาชิกอยู่ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศไทย โดยความร่วมมือกับสมาคมการค้า ตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย หรือ TAWMA ซึ่งมีสมาชิกเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและอาหารสด 17 ตลาดทั่วประเทศ และตลาดไท ตลาดกลางสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เมื่อวันที่ 15-17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปิดฉากไปด้วยความสำเร็จ โดยในช่วง 3 วันของการจัดประชุม WUWM Bangkok 2024 ซึ่งมีธีมในการประชุม และมีเป้าหมายเพื่อแบ่งปันความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นในวงการตลาดค้าส่ง อันจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงตลาดได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการค้าขายจากผู้ผลิต ผู้ค้า ไปถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนต่างๆ และเพิ่มความปลอดภัยและสุขอนามัยของสินค้าทางการเกษตรและอาหาร โดยได้รับเกียรติอย่างสูงจาก นายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ร่วมกล่าวในพิธีเปิดงาน
ในการประชุมได้มีการนำเสนอและแบ่งปันองค์ความรู้ และประสบการณ์โดยผู้ค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสดชั้นนำจากนานาประเทศ ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับปัจจุบันและอนาคตของวงการค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสด อาทิ การทรานสฟอร์มทางด้านดิจิทัลสำหรับตลาดค้าส่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสได้อย่างมากมาย การเดินหน้าขององค์กรสู่การเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน และปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียนที่จะเติบโตในตลาดโลก พร้อมกันนี้ ได้ตอกย้ำถึงความพร้อมของไทย ที่จะรองรับความต้องการของโลกในอนาคต ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและโครงสร้างพื้นฐานของตลาดค้าส่งต่างๆ ในประเทศไทย ตอกย้ำศักยภาพของไทยในฐานะศูนย์กลางค้าส่งสินค้าเกษตรของภูมิภาค
และในโอกาสนี้ ตลาดไท ตลาดกลางสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 543 ไร่ ติดถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานี ได้รับเกียรติต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมจากนานาประเทศทั่วโลก เยี่ยมชมตลาดต่างๆ ภายในตลาดไท อาทิ ตลาดผลไม้รวม ตลาดผลไม้นานาชาติ ตลาดเนื้อสัตว์สด โดยได้เยี่ยมชมการดำเนินการและความทันสมัยในกระบวนการต่างๆ พร้อมทั้งชิมผลไม้ประจำฤดูกาลของไทย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า มะม่วงสุก ทุเรียน และดื่มน้ำมะพร้าว รวมทั้งชิมอาหารไทยหลากหลายเมนู สร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมงาน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นกล่าวในพิธีเปิดงาน โดยมีใจความสำคัญบางช่วงบางตอนว่า ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางทางด้านสินค้าเกษตรและอาหารของภูมิภาคนี้ ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนต่อเนื่องในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เช่น สนามบิน ท่าเรือ ระบบราง และระบบถนน เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าและประสบความสำเร็จได้ พร้อมกันนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการเดินหน้าของภาคการค้าส่ง และภาคธุรกิจอื่นๆ กระทรวงการคลังจะดูเรื่องระบบภาษี เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป และประเทศในอาเซียน ที่มาลงทุนในภาคส่วนนี้ในประเทศไทย เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO กล่าวผ่านวิดีโอ ใจความตอนหนึ่งว่า หากตลาดค้าส่งอาหารดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของทุกส่วนในห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การเพิ่มการเข้าถึงตลาดสำหรับผู้ผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การจัดจำหน่ายจากผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภค โดยนายฉู ตงหยู ได้เดินทางมาเยี่ยมชมตลาดไทด้วยตัวเองเมื่อช่วงต้นปีอีกด้วย
นายสเตฟาน ลายานี ประธานสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรโลก หรือ WUWM แสดงความตื่นเต้นที่ได้เห็นการผสานใช้เทคโนโลยีในวงการตลาดค้าส่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมองว่าช่วยทำให้ตลาดค้าส่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารสด ทั้งนี้นายสเตฟานหวังว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเดินหน้าไปในทิศทางตามเทรนด์ดังกล่าวนี้
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายกสมาคมการค้า ตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย และผู้ถือหุ้นใหญ่ ตลาดไท กล่าวถึงประเด็นสำคัญว่า “เทรนด์ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสดของโลกในอนาคตจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งดีมานด์ที่เยอะขึ้นนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ได้ เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดี เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค อีกยังมีการลงทุนมหาศาลทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีศักยภาพแฝงอื่นๆ ที่สามารถขยายโอกาสได้ รวมทั้งมีเขตการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ และปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ”
นายประดิษฐ์ให้ข้อมูลในภาพรวมว่า แม้ว่าภาคการเกษตรจะมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศ แต่ภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่สำคัญมากภาคส่วนหนึ่งของไทย และประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก สำหรับข้าว น้ำตาล สับปะรด กลุ่มมะม่วง-มังคุด-ฝรั่ง กุ้ง น้ำมันปาล์ม และประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก สำหรับทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลัง และทุเรียน ทั้งนี้การส่งออกผลผลิตทางการเกษตร และการเกษตรแปรรูปทั้งหมดของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งโดยเฉลี่ยเป็นการส่งออกอาหารประมาณครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมดนี้
เมื่อมองในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเทศ มีประชากรรวมมากกว่า 660 ล้านคน และมี GDP เกือบ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นมูลค่าที่ใกล้เคียงกับครึ่งหนึ่งของสหภาพยุโรป แทบจะทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศ โดยประเทศไทย และอินโดนีเซีย มีการจ้างงานในภาคการเกษตร นับเป็น 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมด หรืออย่างในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น กัมพูชา และเมียนมา ภาคการเกษตรมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของ GDP ของประเทศ
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะทะลุ 9,000 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30% โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรจำนวนมาก ส่วนสำคัญจะอยู่ในประเทศแถบซีกโลกนี้ ดังนั้นเพื่อที่จะเป็นแหล่งอาหารให้กับประชากรได้อย่างเพียงพอ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ประมาณการว่าจะต้องเพิ่มการผลิตอาหารให้มากขึ้นประมาณ 70% ดังนั้นภาคส่วนการตลาดค้าส่งสินค้าทางการเกษตรและอาหารสดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการเป็นกลไกที่จะช่วยการผลิตของเกษตรกร การจัดสรรและส่งมอบผลผลิตต่างๆ ไปถึงประชากรได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา และในปริมาณที่ถูกต้อง
สำหรับประเทศไทย ถือว่ามีศักยภาพที่ดี พร้อมรองรับเทรนด์โลกในอนาคตได้ ด้วยประเทศไทยสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรและอาหารหลายอย่างได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถึงแม้ว่าเกษตรกรจำนวนหนึ่งยังใช้วิธีทำการเกษตรแบบดั้งเดิม จึงถือว่ามีโอกาสด้านบวกแฝงอยู่ หากมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อยกระดับการบริหารจัดการเรือกสวนไร่นา คุณภาพดิน และประสิทธิภาพในการทำการเกษตร คาดหวังได้ว่าเกษตรกรจะสามารถเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ เพิ่มผลกำไร ลดค่าใช้จ่าย และรวมถึงเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันได้ในตลาดโลก อีกประการคือ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขายของภูมิภาคอาเซียน และสนับสนุนด้วยการมี FTA กับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค การที่รัฐบาลไทยได้ลงทุนมหาศาลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ ตลอดจนการที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
การประชุม WUWM Bangkok 2024 มีผู้คนในแวดวงตลาดค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสดจากทั่วโลกเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 300 คน