ม.แม่โจ้ พร้อมเดินหน้าโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ :
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ประสานงาน โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤตโควิด – 19 ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture – BCG ) ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี ณ บริเวณชั้น 1 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤตโควิด – 19 ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture – BCG ) มี ดร.สุดเขต สกุลทอง เป็นหัวหน้าโครงการ ดร.มนสิชา ภักดิเมธี และนายนิธิศ รอดชมภู เป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดร.สุดเขต สกุลทอง หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เพื่อสร้างรายได้จากภาคการผลิตและภาคบริการที่ทันสมัยในพื้นที่เป้าหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยการบริโภค และการใช้จ่ายภายในประเทศ สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตและบริการที่ทันสมัย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น 5,001 กลุ่ม
ซึ่งจะดำเนินโครงการใน 7 กิจกรรม คือ การเพาะเห็ดเศรษฐกิจมูลค่าสูง 5 ชนิด ,นวัตกรรมการปรับปรุงปุ๋ยอินทรีย์ปัจจัยการผลิต ชีวภัณฑ์ป้องกันโรคและแมลงในพืชไร พืชสวน ครบวงจร ด้วยสมุนไพรไทย ,การเลี้ยงปลาดุกที่มีสารโปรตีนและโอเมก้า พร้อมผลิตอาหารปลาอินทรีย์ ,ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตไก่พื้นเมืองโปรตีนสูง ,ส่งเสริมและฝึกการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ ,การผลิตลำไยคุณภาพสูง การคัดพันธุ์กล้าลำไย การปรับปรุงคุณภาพลำไย เทคนิคการตัดแต่งกิ่งลำไยเพิ่มคุณภาพผลผลิต และการปลูกพืชผักสวนครัวแบบสมาร์ทไฮโดรโปนิกส์ ในระบบเกษตรปลอดภัย เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการเกษตรสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร โดยถ่ายทอดนวัตกรรม เทคโนโลยี ทางการเกษตรสมัยใหม่ที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปฏิบัติจริง