“พิพัฒน์” ปั้นพัทลุง-นครฯ แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก :

“พิพัฒน์” ปั้นพัทลุง-นครฯ แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก :

“พิพัฒน์” ย้ำการประกาศพื้นที่พิเศษฯ ชุมชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด เดินหน้าเคาะประตู พัทลุง- นครศรีธรรมราช สร้างการรับรู้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยกมาตรฐานติดระดับสากล สร้างคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน เล็ง 5 ปี ปั้น 40 ชุมชนต้นแบบ พร้อมดันแหล่งท่องเที่ยวขึ้น TOP 100 และเมืองสร้างสรรค์โลก

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ จะครอบคลุม 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง บางกล่ำ จังหวัดพัทลุง  5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสน ควนขนุน จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด และหัวไทร  ตั้งเป้าหมายพัฒนาและยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริการจัดการตามมาตรฐานสากล ภายใต้วิสัยทัศน์ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” โดยกิจกรรมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา “มหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 2 เป็นการจัดต่อเนื่องจากครั้งแรกที่จัดไปแล้วที่จังหวัดสงขลา

***ปั้นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพมาตรฐานโลก***

ทั้งนี้การพัฒนามุ่งเน้นเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน ที่เป็นจุดขายของการท่องเที่ยวให้เกิดการสืบทอด พัฒนาคนให้มีความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตัวเอง ยกระดับขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว ส่งเสริมพัฒนาเยาวชนในการเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ค้นหาปราชญ์ชาวบ้านด้านต่างๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ นำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเส้นทางท่องเที่ยวที่ตอบสนองนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดคุณภาพสูง โดยการพัฒนาจะมุ่งเน้นผลกระทบเชิงบวก รวมถึงลดผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม อีกทั้งส่งเสริมให้มีการจัดการขยะจากการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ

“จุดเด่นของพัทลุง คือเรื่องของอัตลักษณ์วิถีชีวิตสะท้อนความเป็นลุ่มน้ำได้อย่างสมบูรณ์ ทะเลน้อยซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งดูนกที่สำคัญ ส่วนที่ปากประมี ยอยักษ์และควายน้ำ  ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว  ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีจุดเด่นเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าพรุควนเคร็งซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ดังนั้นการเข้าเป็นพื้นที่พิเศษจะช่วยสามารถพัฒนาและยกระดับให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพที่มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาคือ มีงาน มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการเข้ามาพัฒนาของ อพท.” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าว

***สร้าง 40 ชุมชนต้นแบบใน 5 ปี***

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวเสริมว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี อพท. จะบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน  พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของแหล่งท่องเที่ยว เป้าหมายคือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 24 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 57 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ 22 แห่ง  พัฒนาชุมชนให้ผ่านมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 40 ชุมชน โดยทั้งหมดจะมีความพร้อมและมีคุณภาพรองรับการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน และสอดคล้องตามแนวทางการท่องเที่ยวในวิถีใหม่ และมีมาตรฐานระดับสากลที่รองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ด้วยหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design)

ทั้งนี้เป้าหมายความสำเร็จจากการพัฒนา นอกจากการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ยังเป็นไปเพื่อการสร้างมาตรฐานให้เกิดการยอมรับในระดับสากล เช่น การผลักดันให้ ปากประ จังหวัดพัทลุง ได้เป็น1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 และเมืองพัทลุง ได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ภายในปี 2570

อย่างไรก็ตาม แผนยุทธศาสตร์ยังคาดการณ์ความสำเร็จจากการพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับคุณภาพสูง มีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เพิ่มขึ้น โดย จังหวัดพัทลุง จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และชุมชนมีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 75  เกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15  เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ยั่งยืนต่อไป

Related posts